การพัฒนาการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาดโรงเรียน เพื่อความยั่งยืนของชุมชน
The Development organic agriculture network to the School Market for Sustainable Community.
: ชื่อผู้วิจัย นาย วุฒิศักดิ์ บุญแน่น
: ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2560
: 10718
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาวิจัยการพัฒนาการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาดโรงเรียนเพื่อความยั่งยืนของชุมชน มีจุดมุ่งหมายการวิจัย เพื่อสร้างสร้างแนวทางการพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) และเพื่อการสร้างความตระหนักต่อการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษและความตระหนักต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้กับนักเรียนและชาวบ้านในชุมชน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ชาวบ้านชุมชนบ้านดอนยม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) และ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) ประจำปีการศึกษา 2559-2560 จำนวน 30 คน โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) และการวิจัยเชิงปริมาณแบบ กึ่งทดลอง (Quasi-experimental Research) การวิจัยแบบกลุ่มเดียว (One Group Pretest Posttest Design) เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม การเข้าร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนและการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนยม เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาดโรงเรียนเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ที่เป็นเพศหญิง จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 60 และ เพศชาย 12 คน คิดเป็นร้อยละ 40 และประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมาคือ รับราชการและค้าขาย จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการปลูกพืชผักและการทำการเกษตร ชาวชุมชนให้ความใส่ใจต่อการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ ในชุมชนมีแปลงปลูกผักปลอดสารพิษและแปลงปลูกผักอินทรีย์ เฉลี่ยร้อยละ 81.67 คนในชุมชนไม่ใช้สารเคมี ในการปลูกพืชผัก ร้อยละ 83.33 โดยมี มีผลิตภัณฑ์ ที่ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 93.33 น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ ร้อยละ 60 ความตระหนักต่อการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของชาวบ้านชุมชุนบ้านดอนยม และนักเรียน พบว่า มีความตระหนักอยู่ในระดับปานกลาง โดย ชาวบ้านในชุมชน บ้านดอนยม มีคะแนนเฉลี่ยความตระหนักสูงกว่านักเรียน และผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความตระหนัก ต่อการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของชาวบ้านชุมชุน บ้านดอนยม กับนักเรียน พบว่า ความตระหนักของชาวบ้านในชุมชน บ้านดอนยม และนักเรียน มีความตระหนักที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 และจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยของรายได้ ก่อนและหลังการเป็นสมาชิกเครือข่ายของชาวบ้านในชุมชนโดยใช้ สถิติ Pair t-test พบว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย มีรายได้เฉลี่ย/เดือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
การพัฒนาการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาดโรงเรียน เพื่อความยั่งยืนของชุมชน The Development organic agriculture network to the School Market for Sustainable Community. is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.