รายงานการติดตามและประเมินผลนโยบายการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับ Thailand 4.0
: ชื่อผู้วิจัย กลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา
: ตำแหน่ง -
: วัดประเมินผลการศึกษา
: ปี 2562
: 154
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยติดตามและประเมินผลนโยบายการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อรองรับThailand 4.0 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (EP/MEP) ประเมินโครงการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ศึกษาเปรียบเทียบนโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยกับต่างประเทศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อรองรับ Thailand 4.0 การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี(Mixed MethodsResearch)และใช้กรอบแนวคิดของการประเมินแบบขับเคลื่อนด้วยทฤษฎี(Theory-Driven Evaluation) ผสานกับการประเมินตามความเป็นจริง (Realist Evaluation) กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยได้จากการสุ่มสถานศึกษา ผู้บริหาร ครูและนักเรียนจาก 3 สังกัด (สพฐ. สช. และ สอศ.) ครอบคลุมพื้นที่ 5 ภูมิภาค (กทม. ภาคกลาง ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้) ในการประเมินโครงการEP/MEPเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (focus group)แบบสอบถาม 4 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก 4 ฉบับ จากสถานศึกษา 47 จังหวัด 120 โรง ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาโครงการEP144คน และโครงการ MEP 98 คน หัวหน้าโครงการ EP/MEP 139 และ 101 คน ครูที่สอนในโครงการ EP/MEP 337 และ 99 คน และนักเรียนในโครงการ EP/MEP 2,598 และ 444 คน ตามลำดับ สำหรับการประเมินโครงการ Boot Camp เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ แบบสอบถาม 3 ฉบับและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก 3 ฉบับ จากสถานศึกษา 48 จังหวัด 120 โรง ประกอบด้วยผู้บริหาร 196 และ 90 คน ครูสอนภาษาอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการ 282 และ 152 คน และนักเรียนที่เรียนกับครูที่เข้าร่วมโครงการ 2,825 และ 460 คน ตามลำดับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ค่าความถี่ร้อยละค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA)ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการประเมินสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการEP/MEP พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่มีวิสัยทัศน์มีความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักการดำเนินโครงการEP/MEPผู้บริหารสังกัด สพฐ. และ สช. สามารถจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอส่วนผู้บริหารสังกัด สอศ. จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการได้ระดับปานกลางหัวหน้าโครงการในภาพรวมมีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงการระดับดีมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประสานงานหัวหน้าโครงการในสังกัดสพฐ.ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นครูชำนาญการพิเศษ ส่วนหัวหน้าโครงการในสังกัด สอศ. ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นครูชำนาญการ
ครูชาวต่างประเทศในภาพรวมมีความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษาและสอนไม่ตรงตามสาขาวิชาเมื่อผ่านการอบรมแล้วจึงมีความสามารถเขียนแผนการสอนสามารถจัดการชั้นเรียน และการวัดประเมินผลการเรียนรู้ตรงเวลาและมีความรับผิดชอบ การสอนของครูชาวต่างประเทศในภาพรวมทั้ง 3 สังกัด มีความสอดคล้องกันในด้านผู้สอน มีความมั่นใจในการสอนส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้เอาใจใส่นักเรียน ให้กำลังใจ เน้นให้นักเรียนฟังและพูด เปิดโอกาสให้นักเรียนพูดคุยและซักถาม ครูไทยในภาพรวมมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรสามารถพัฒนาแผนการสอน มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล
ผลของโครงการในภาพรวมพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจระดับมากต่อการจัดการเรียนการสอนของโครงการ นักเรียนทั้ง 3 สังกัดส่วนใหญ่มีเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ และวิชาอื่น ๆ สูงกว่าหลักสูตรปกติแต่ความสามารถทางภาษาอังกฤษและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั่วไปของนักเรียนในสังกัด สอศ. ส่วนใหญ่อยู่ระดับปานกลาง ความสามารถทางภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับชั้น ป.6, ม.3, ม.6, ปวช., และ ปวส. เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลของยุโรป(CEFR) ยังมีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ผลกระทบของโครงการต่อสถานศึกษา และบุคลากรในภาพรวม พบว่าผู้บริหาร ครูและผู้ปกครอง ให้ความสำคัญต่อการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร มีการสื่อสารกับครูชาวต่างประเทศและการจัดกิจกรรมร่วมกัน และมีความพยายามพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของตนเองให้ดีขึ้น
2. ผลการประเมินโครงการBoot Camp พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งครูสอนภาษาอังกฤษเข้าร่วมโครงการทั้ง3สังกัดให้ความสำคัญต่อโครงการระดับมากเพราะต้องการให้ครูสอนภาษาอังกฤษได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังครูผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการมีความตั้งใจพัฒนาตนเอง หลักสูตรการอบรมโดยภาพรวมมีคุณภาพระดับดีมากตรงกับความต้องการของครูเนื้อหาเป็นประโยชน์เทคนิคการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความน่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้วิทยากรชาวต่างประเทศโดยภาพรวมมีคุณภาพดีมากครูสอนภาษาอังกฤษทั้ง3สังกัดที่เข้าร่วมโครงการมีความเห็นว่าวิทยากรชาวต่างชาติมีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถถ่ายทอดยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสภาพการอบรมได้ดีสำหรับวิทยากรชาวไทย(TMT) มีคุณภาพโดยรวมระดับดีสามารถสนับสนุนการสอนของวิทยากรชาวต่างชาติมีความสามารถในการประสานงานได้ดีส่วนการนิเทศกำกับ ติดตาม มีไม่มากโดยเฉพาะในเขตกทม.
ผลของโครงการในภาพรวม ครูที่เข้าอบรมมีความพึงพอใจต่อโครงการระดับมาก ครูที่เข้าอบรมทั้ง3สังกัดยอมรับว่าหลังการอบรมมีความสามารถทางภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น มีเทคนิคการสอนดีขึ้น ทำให้สอนได้ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนในทิศทางที่เหมาะสม สำหรับนักเรียนที่เรียนกับครูที่ผ่านการอบรมมีความเห็นว่า ครูภาษาอังกฤษมีความมั่นใจในการสอน เอาใจใส่นักเรียนเรียนสนุกขึ้น ชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น และมีทักษะการฟังและการพูดดีขึ้น
3. ผลการเปรียบเทียบนโยบายส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษของประเทศสิงคโปร์เวียดนามญี่ปุ่น และเกาหลีกับประเทศไทย พบว่านโยบายการส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษของประเทศคัดสรรเกิดขึ้นจากแรงกดดันภายนอกของกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล และแรงกดดันภายในอันเกิดจากความต้องการของสังคม/ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานมีทักษะภาษาอังกฤษ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาค้นคว้า และใช้เป็นโอกาสของการศึกษาและประกอบอาชีพที่มีรายได้ดีในอนาคต
มีความพยายามจากภาครัฐในการส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันภาษาจากต่างประเทศและภายในประเทศการจ้างครูเจ้าของภาษา(NativeEnglishSpeakers)เพื่อทำการสอนทั้งระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา และอุดมศึกษา แนวทาง วิธีการและเทคนิคการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้มีการปรับเปลี่ยนจากการเน้นหลักภาษาไวยากรณ์สู่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
นโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในหลายประเทศประสบปัญหาหลายด้านทางด้านบุคลากรขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญการสอนจากครูเจ้าของภาษา และครูภายในประเทศที่มีสมิทธิภาพทางภาษาอังกฤษมีจำนวนจำกัด มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณสนับสนุน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง มีปัญหาด้านความพร้อมของหน่วยปฏิบัติในการประสานความร่วมมือและการขับเคลื่อนนโยบาย บุคลากรที่เกี่ยวข้องขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษมีส ่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านบริบทและวัฒนธรรมของการบริหารจัดการนโยบายทางการศึกษาของประเทศรวมทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการผลิตและการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษของประเทศ
รายงานการติดตามและประเมินผลนโยบายการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับ Thailand 4.0 is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.