การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจําเป็นพิเศษ

: ชื่อผู้วิจัย สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
: ตำแหน่ง -
: การศึกษาพิเศษ
: ปี 2562
: 141

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การจัดการศึกษาเรียนรวม (Inclusive Education: IE) เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้น ให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานตามศักยภาพแห่งตน มีสิทธิความเสมอภาคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็น “การศึกษาเพื่อทุกคน” (Education For All : EFA) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกและไม่เลือกปฏิบัติต่อทั้งผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ผู้เรียนพิการ ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และผู้เรียนปกติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามความสามารถแห่งตน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ประกอบกับแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พุทธศักราช 2560 – 2579 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ระบุถึงการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยให้ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในวัยเรียนได้รับการศึกษาเต็มตามศักยภาพเพิ่มขึ้น และเด็กพิการทางการศึกษาได้รับการพัฒนาสมรรถภาพหรือบริการทางการศึกษาที่เหมาะสม จากแนวคิดเชิงนโยบายสู่การขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติในการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วทุกภูมิภาค รวม 6 สังกัด ได้แก่ สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทวงมหาดไทย ทำให้ได้สารสนเทศทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

จากการศึกษาสามารถวิเคราะห์และสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้ 1. ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษาเรียนรวมในต่างประเทศ 2. ปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาเรียนรวมของต่างประเทศ 3. แนวทางแก้ไขการจัดการศึกษาเรียนรวมของต่างประเทศ 4. ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการจัดการศึกษาเรียนรวมของสถานศึกษาเรียนรวมในประเทศไทย 5. ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาเรียนรวมของสถานศึกษาเรียนรวมในประเทศไทย 6. ผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 7. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

`

การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจําเป็นพิเศษ is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.