การศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับ กลุ่มผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย : กรณีผู้มีความสามารถพิเศษ
A Study on the Situation and Education Model for Persons with Special Needs Appropriated to Thai Context : Gifted and Talented Case

: ชื่อผู้วิจัย กลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและสมัชชาการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้
: ตำแหน่ง -
: การศึกษาพิเศษ
: ปี 2562
: 180

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

รายงานการศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กรณีผู้มีความสามารถพิเศษฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารวบรวม ข้อมูล นิยาม/ความหมาย ประเภทของผู้มีความสามารถพิเศษทั้งในและต่างประเทศ และ 2) ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และกรณีศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาที่ดีเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยขอบเขตการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ครอบคลุมสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาโดยครอบครัว ใช้วิธีการผสมผสานในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ทั้งจากเอกสาร การสอบถามการสัมภาษณ์การสังเกต และการประชุมปฏิบัติการ

ขณะนี้ยังไม่มีนิยามที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในระดับสากล บางประเทศกำหนดตามนโยบายของประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ แต่หลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คือ ความสามารถพิเศษมีอยู่ในทุกกลุ่มชน มิได้จำกัดอยู่แต่ผู้ที่เรียนเก่งหรือสติปัญญาสูง แต่หมายรวมถึงความสามารถด้านอื่น ๆ เช่น ศิลปะ ดนตรีกีฬาสังคม หลาย ๆ ประเทศจึงกำหนดคำนิยามครอบคลุมความสามารถพิเศษหลายด้าน ทั้งในด้านวิชาการและไม่ใช่วิชาการ รวมถึงประเทศไทยที่คำนิยามปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรกในแผนพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษ พ.ศ. 2541 ว่า “เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษหมายถึงเด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทางทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ความสามารถด้านดนตรีความสามารถทางกีฬาและความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความสามารถได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเด็กและเยาวชนอื่นที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์คล้ายคลึงกัน”

ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530–2534) มีการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นลำดับแรก ๆ และมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีการดำเนินการโครงการนำร่องการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการใช้หลักสูตรต่าง ๆ หลากหลาย เช่น การลดเวลาเรียน การเพิ่มพูนประสบการณ์การขยายประสบการณ์รวมถึงการใช้องค์ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ ในการเสาะหาและพัฒนา ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี ศิลปะ ทั้งในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่เมื่อหมดระยะของการนำร่องพบว่า การนำนโยบายไปปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากขาดนโยบายและงบประมาณสนับสนุน ในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ ได้ประสานความร่วมมือกับสาธารณรัฐรัสเซียในเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับ

ผู้มีความสามารถพิเศษ

เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ระบุถึงการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับสภาพการจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ที่ผ่านมายังมีปัญหา ข้อจำกัดอยู่หลายประการ จึงขอให้ข้อเสนอแนะบนพื้นฐานของข้อค้นพบจากการวิจัย และจากความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องนี้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว

`

การศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับ กลุ่มผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย : กรณีผู้มีความสามารถพิเศษA Study on the Situation and Education Model for Persons with Special Needs Appropriated to Thai Context : Gifted and Talented Case is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.