การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
: ชื่อผู้วิจัย กลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเรียนรู้ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2562
: 143
บทคัดย่อ (Abstract)
การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) มีเป้าหมายต้องการขับเคลื่อนให้คนไทยมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศสามารถปรับตัวรองรับบริบทการพัฒนาประเทศในอนาคต (สภาการศึกษา 2560) และสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทน์โอชา (2558) ที่มุ่งเสริมสร้างคนไทยให้มีวินัยเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพคนในชาติรัฐบาลจึงได้กำหนดค่านิยมหลัก 12 ประการเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาคนไทย ประกอบด้วย 1) มีความรักชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม 3) กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์4) ใฝ่หาความรู้หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม
5) รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม 6) มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน 7) เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง 8) มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9) มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว 10) รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมเมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี11) มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ
ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา 12) คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเองโดยเฉพาะค่านิยมหลัก ข้อที่ 8 ที่ระบุไว้ว่า มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการศึกษาขั้นพื้นฐานในข้อที่ 1 คือ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนเองนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง
การสร้างวินัยของคนไทยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นฐานในการสร้างคนไทยที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยและต่อเนื่องถึงวัยเรียนเป็นการฝึกการมีวินัยที่เป็นไปตามพัฒนาการของคนแต่ละช่วงวัย มีพัฒนาการทางการคิดตามลำดับและเน้นการให้ทุกสถาบันในสังคมได้ร่วมมีบทบาทในการปลูกฝังวินัยให้แก่เยาวชน อันได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการเมือง และการปกครอง สื่อมวลชน องค์กรอิสระ เป็นต้น
โดยเฉพาะการสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้แก่เยาวชนในสถานศึกษาระดับการศึกษา
ขั้นพื้นฐานมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการวางพื้นฐานการมีวินัยที่เป็นฐานในการดำรงชีวิตในสังคม สถานศึกษาจะต้องมีการออกแบบการสร้างวินัยให้แก่นักเรียนได้อย่างหลากหลาย มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของนักเรียน สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย สามารถเสริมสร้างวินัยได้ทั้งในรูปแบบการบูรณาการในกลุ่มสาระวิชาและในกิจกรรมพัฒนานักเรียน กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้หรือสาระเพิ่มเติม ซึ่งสถานศึกษาสามารถที่จะทำได้อย่างอิสระ หากสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญและช่วยเสริมสร้างวินัยในรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะทำให้นักเรียนเกิดลักษณะเป็นผู้ที่มีวินัย มีลักษณะนิสัยในการควบคุมตนเอง สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้มีความซื่อสัตย์ มีจิตอาสา เสียสละเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศ และประเทศชาติเกิดสันติสุข
การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.