การศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน
: ชื่อผู้วิจัย กลุ่มนโยบายการศึกษาเฉพาะด้าน สำนักนโยบายและแผนการศึกษา
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2562
: 146
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันในด้านตลาดงาน และศักยภาพของกำลังคนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่ 2) สำรวจความต้องการกำลังคนตามศักยภาพของพื้นที่และช่องว่างของทักษะกำลังคน (Skill Gap) ในแต่ละพื้นที่ 3) ศึกษาวิจัยภาคสนาม จากการสัมภาษณ์ หรือสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ใน 2 ระดับ ทั้งระดับปฏิบัติและระดับนโยบายและยุทธศาสตร์และ4) วิเคราะห์และเตรียมการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงศักยภาพและความแตกต่างของพื้นที่
วิธีวิทยาการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบผสมผสาน (Mixed Methods) ประกอบด้วย
1. การศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เพื่อให้ได้บทเรียนจากต่างประเทศได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
2. การศึกษาวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิควบคู่ไปกับข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการสัมภาษณ์หรือสนทนากลุ่ม ของตัวแทนจากภาครัฐ สถานศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน และตัวผู้เรียน
3. การศึกษาภาคสนามจากการสัมภาษณ์ หรือสนทนากลุ่มใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดนราธิวาส จังหวัดอุดรธานีจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ สถานศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน และตัวผู้เรียน เข้าร่วมสนทนากลุ่มและให้สัมภาษณ์รวมทั้งสิ้น 183 คน สำหรับการคัดเลือกจังหวัด คัดเลือกจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยพิจารณาประกอบกับนโยบายสำคัญของรัฐ เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการกำหนดแบ่งกลุ่มจังหวัดและภาคตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รายได้โอกาสในการก้าวหน้า และทางเลือกในการเรียน แนวโน้มการจ้างงาน โครงสร้างเศรษฐกิจ และนัยยะที่มีต่อการวางแผนกำลังคนที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน ความพร้อมของการเตรียมกำลังคนด้วยการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน
การศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.