รายงานวิจัย แนวทางการส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship): ประสบการณ์นานาชาติ
Global Citizenship Education Development: GCED
: ชื่อผู้วิจัย กลุ่มคลังข้อมูลทางการศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2562
: 138
บทคัดย่อ (Abstract)
การสร้างความเป็นพลเมืองและความเป็นพลโลกเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ องค์การสหประชาชาติโดยนายบัน คี มูน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติได้มีแถลงการณ์ในหัวข้อ “Global Education First Initiative: GEFI” ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ครั้งที่ 67 ประจำปี พ.ศ.2555 ที่นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 (ค.ศ.2012) โดยให้ประเทศสมาชิกถือเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะร่วมกันเสริมสร้างความเป็นพลเมืองโลก (Foster Global Citizenship) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้เข้าโรงเรียน (put every child in school) และการปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ (improve the quality of learning) โดยตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 เป็นต้นไป (UNESCO, 2014: online) หลังจากนั้นได้จัดการประชุมในเรื่องนี้เป็นระยะ ล่าสุดมีการประชุม Second UNESCO Forum on Global Citizenship Education Building Peaceful and Sustainable Societies: Preparing for Post-2015 เป็นครั้งที่สองระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ.2558 โดยมีเป้าหมายที่จะอภิปรายเรื่องการศึกษาสร้างความเป็นพลเมืองโลกในช่วงการพัฒนาหลัง พ.ศ.2558 หรือ Post-2015 Development สาเหตุที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเป็นพลเมืองโลกเป็นเพราะเห็นว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกศตวรรษที่ 21 มีความเชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ การศึกษาจะผลิตเฉพาะพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไปแต่จะต้องผลิตพลเมืองที่มีความเป็นพลโลกที่สามารถอยู่ร่วมกัน (learning to live together) รู้คิด รู้กระทำ เพื่อโลกในภาพรวมเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจมีทักษะค่านิยม และทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมีสันติ มีขันติ และเป็นสังคมแห่งโอกาสที่เท่ากันหรือสังคมแห่งการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Inclusive Society) ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) (UNESCO, 2014: online)
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการสร้างความเป็นพลเมืองโลกยังได้รับความสำคัญจากนานาประเทศทั้งในเชิงวิชาการและแนวปฏิบัติ ในด้านวิชาการแนวคิดเรื่องพลโลกศึกษาหรือ Global Citizenship Education (GCE) มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดอื่นๆ เช่น Multicultural Education, Peace Education, Human Rights Education, Education for Sustainable Development (ESD), Education for International Understanding (EIU) และ International Education (IU) นักวิชาการ เช่น Bloomfield และชัยอนันต์ สมุทวณิช (2544) เห็นว่าการศึกษาต้องสร้างพลเมืองและพลโลกที่มีความรับผิดชอบ (responsible citizens and global citizens) และพลเมืองและพลโลกศึกษามีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านการสั่งสอนอบรมบ่มนิสัยเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบทางสังคมทางศีลธรรมและทางจริยธรรมคุณธรรมด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการรับใช้สังคมและด้านการมีความรู้ทางการเมือง (Political Literacy) เศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องพลโลกในศตวรรษที่ 21 โดย Cogan and Derricott (1998) Pitiyanuwat (2007) Trilling and Fadel (2009) Barber (2010) ส่วนพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่าพลโลกศึกษาหรือ Global Citizenship Education มีสองความหมายความหมายแรกหมายถึงพลเมืองศึกษาสมัยใหม่ที่เป็นการจัดการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศและเป็นพลโลกที่ดีของสังคมโลกเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองของประเทศและสมาชิกของโลกมีความสนใจที่จะปกครองตนเองมีสิทธิมีเสียงสนใจต่อส่วนรวมและมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองในระดับประเทศระดับภูมิภาคและระดับโลกความหมายที่สองหมายถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองรัฐบาลและระบบสถาบันต่างๆ
ผลการวิเคราะห์แบบสำรวจความเห็นเกี่ยวกับคุณลักษณะความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) ของคนไทย เป็นความเห็นตามการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งได้แก่ นักการศึกษา นักวิชาการผู้บริหาร และครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการวิเคราะห์แบบสอบถาม 4 ด้าน พบว่าด้านความรู้และความเข้าใจ (Knowledge) (PNI = 7.829) เป็นด้านที่ประเทศไทยทำได้ที่สุด รองลงมาคือ ด้านค่านิยมและทัศนคติ(Value and Attitudes) (PNI = 8.091 ด้านการรู้/รู้เท่าทัน (Literacy) (PNI = 8.488) และด้านทักษะ (Skills) (PNI = 9.170) อย่างไรก็ตามคุณลักษณะทั้งสี่มีระดับความแตกต่างไม่มากนัก ซึ่งทุกด้านต้องได้รับการส่งเสริมหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบริบทภายในประเทศและบริบทต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกในปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของการเปลี่ยนแปลง เป็นโลกของการปฏิสัมพันธ์ที่มีพลวัต เป็นโลกของเทคโนโลยีสื่อสารที่รวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง เชื่อมโยงการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม ระหว่างผู้คน ชุมชน และรัฐ ที่อยู่ห่างไกลกันให้สามารถติดต่อถึงกันและกัน จนกาลเทศะซึ่งเคยเป็นอุปสรรคไม่สามารถกีดขวางปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน (จุลชีพ ชินวรรโณ, 2557)
รายงานวิจัย แนวทางการส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship): ประสบการณ์นานาชาติGlobal Citizenship Education Development: GCED is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.