รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม

: ชื่อผู้วิจัย นาย ศรัณย์ ศรลัมพ์
: ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2564
: 4

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว

Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม



ผู้ศึกษา นายศรัณย์ ศรลัมพ์



บทคัดย่อ



รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม



การจัดศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ควร เนื่องด้วยการจัดการเรียนรู้ยังมุ่งให้ผู้เรียนคิดตามผู้สอนป้อนความรู้ (passive learning) มากกว่าให้คิดสิ่งใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruption) ในศตวรรษที่ 21 สถานศึกษาต้องพัฒนาขีดความสามารถผู้เรียนตามศักยภาพและความถนัด โดยจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการปฏิบัติจริง (active learning) การจัดการเรียนรู้จึงต้องมุ่งเน้นผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้และใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ผู้ชี้แนะ (coach) และเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน อีกทั้งผู้เรียนมีศักยภาพในการจัดการสุขภาวะของตนเองให้มีสุขภาวะที่ดี การศึกษาครั้งนี้เป็นการสะท้อนปรากฏการณ์การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานตามแนว Constructionism ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ในขณะสร้างชิ้นงาน โดยผ่านโครงการนิเทศภายในเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูป (transformation) การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนประเสริฐอิสลาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการนิเทศภายในและศึกษาผลกระทบ สภาพปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม กลุ่มที่ศึกษาคือ ผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 136 คน ครูจำนวน 26 คน และผู้ปกครองจำนวน 136 คน เป็นการศึกษาโดยใช้วิธีวิจัยแบบผสานวิธี (combine qualitative and quantitative design) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์

ผลการศึกษาพบว่า

1. การประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยป้อนเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ตามความคิดเห็นของครู โดยภาพรวมพบว่า มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านผลผลิต (Product) พบว่า บทบาทผู้เรียนที่เปลี่ยนไปตามความคิดเห็นของครู และตามความคิดเห็นผู้เรียนโดยภาพรวมพบว่า มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับมาก อีกทั้งบทบาทครู ตามความคิดเห็นของครูโดยภาพรวมพบว่า มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับมากที่สุด และบทบาทครูที่เปลี่ยนไป ตามความคิดเห็นของผู้เรียนโดยภาพรวมพบว่า มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ

2. ผลกระทบ (Impact) สภาพปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism ได้แก่ บทบาทผู้เรียนระหว่างผู้เรียนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานคือ 1) คิดสร้างสรรค์ 2) การประเมินค่า 3) การวิเคราะห์ 4) การประยุกต์ใช้ 5) การเข้าใจ และ 6) การจำ ส่วนบทบาทครูระหว่างผู้เรียนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงาน โดยครูสะท้อนว่า 1) ให้คำแนะนำ (โค้ช) 2) สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ 3) เปิดโอกาสให้กับผู้เรียน 4) อำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน 5) เตรียมสภาวะจิต และบทบาทครูระหว่างผู้เรียนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงาน โดยผู้เรียนและผู้ปกครองสะท้อนตรงกันว่า 1) ให้คำแนะนำ (โค้ช) 2) สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และ 3) เปิดโอกาสให้กับผู้เรียน นอกจากนั้นข้อค้นพบยังอธิบายถึงคุณลักษณะของผู้เรียนระหว่างผู้เรียนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานว่า คุณลักษณะของผู้เรียน คือ 1) อดทน 2) การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ 3) กำกับสติ 4) ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 5) มีความสุข 6) ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น 7) ค้นพบความถนัดและความสนใจ 8) ใฝ่เรียนรู้ และ 9) มีความรับผิดชอบ

จึงสรุปได้ว่าข้อค้นพบจากการศึกษาการประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม เป็นการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ของครู และเป็นการปรับวิธีเรียน-เปลี่ยนวิธีรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การแก้ปัญหา (problem solving) จนเป็นวิถีของตนเอง และยังสามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

`

รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยวิธีโครงงานตามแนว Constructionism โรงเรียนประเสริฐอิสลาม is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.