ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
Factors influencing students toward vocational education in Eastern Economic Corridor (EEC)

: ชื่อผู้วิจัย นาย พรพรหม เทพเรืองชัย
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2564
: 386

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

พื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการภาค 8 นั้น มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การค้า และช่วยให้ผู้เรียนมีงานทำ จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพและสายสามัญ ปี 2562 ให้ได้ 50 ต่อ 50 และในปีการศึกษา 2563 สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพจะต้องอยู่ที่ 60 ขึ้นไป และสายสามัญ 40 นั้น สภาพเป็นจริงในปัจจุบัน มีผู้เรียนในสายอาชีพเพียงร้อยละ 30 - 36 เท่านั้น

จึงจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ

ภาคตะวันออก (EEC) เพื่อหาแนวทางในการจูงใจให้นักเรียนเลือกเรียนสายอาชีพต่อไป รายงานวิจัย เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ฉบับนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quatitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยวิธีการเก็บ รวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ โดยได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 584 คน จากนั้นคัดเลือกเฉพาะผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกเรียนต่อสายอาชีพมาทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

ผลการศึกษาปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพ ในภาพรวมทั้ง 8 ด้านอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 3.71, S.D. = 0.72) เมื่อพิจารณาปัจจัยแต่ละด้านพบว่า มีระดับความคิดเห็นเรียงจากปัจจัยที่มีค่าเฉลี่ยมากไปหาค่าเฉลี่ยน้อย ดังนี้ ปัจจัยด้านหลักสูตร/ สาขาวิชามีค่าเฉลี่ยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 (X ̅ = 3.94, S.D. = 0.68) รองลงมาคือ ปัจจัยด้านการมีงานทำ (X ̅ = 3.94, S.D. = 0.73) ปัจจัยด้านภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษา (X ̅ = 3.93, S.D. = 0.69) ปัจจัยด้านเหตุผลส่วนตัว (X ̅ = 3.86, S.D. = 0.64) ปัจจัยด้านสื่อ การประชาสัมพันธ์ (X ̅ = 3.85, S.D. = 0.69) ปัจจัยด้านรายได้/ ค่าตอบแทน (X ̅ = 3.63, S.D. = 0.82) ปัจจัยด้านบุคคลที่เกี่ยวข้อง (X ̅ = 3.59, S.D. = 0.67) ซึ่งทั้ง 7 ปัจจัยมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และอันดับสุดท้ายคือปัจจัยด้านสถานภาพทางการเงิน (X ̅ = 2.95, S.D. = 0.83) ซึ่งมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง

เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีความคิดเห็นเรียงจากค่าเฉลี่ยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เรียนจบมีงานทำแน่นอน (X ̅ = 4.13, S.D. = 0.80) ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพ (อาชีวศึกษา) (X ̅ = 4.11, S.D. = 0.82) ได้เรียนตามความชอบและความถนัดของตนเอง (X ̅ = 4.06, S.D. = 0.78) มีหลักสูตร/สาขาวิชาที่ได้ทั้งเรียนในสถานศึกษาและประสบการณ์ทำงานจริงในสถานประกอบการ (เช่น ทวิภาคี) (X ̅ = 3.99, S.D. = 0.78) และเลือกเรียนเพราะเป็นหลักสูตร/สาขาวิชาที่เป็นที่นิยมตรงตามความต้องการของตลาดงาน สามารถหางานทำได้ง่าย (X ̅ = 3.93, S.D. = 0.78) ซึ่งทั้ง 5 ข้อมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ส่วนข้อที่มีความคิดเห็นเรียงจากค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ มีโครงการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จนจบการศึกษา (X ̅ = 2.95, S.D. = 1.00) รองลงมาคือมีทุนการศึกษา ให้เรียนฟรีจนจบการศึกษา (X ̅ = 2.96, S.D. = 0.91) และได้เรียนตามกลุ่มเพื่อน/คนรู้จัก (X ̅ = 3.07, S.D. = 0.92)

`

ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพของนักเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) Factors influencing students toward vocational education in Eastern Economic Corridor (EEC) is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.