รูปแบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการจัดการเรียนรู้ Active Learning โรงเรียนประเสริฐอิสลาม
: ชื่อผู้วิจัย นาย ศรัณย์ ศรลัมพ์
: ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2565
: 49
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาขอเสนอแนวทางการเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ Active Learning โรงเรียนประเสริฐอิสลาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพบริบท วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ของสถานศึกษา สร้าง ทดลองใช้ และประเมินรูปแบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการจัดการเรียนรู้ Active Learning กลุ่มที่ศึกษาเป็นผู้ให้ข้อมูลในระหว่าง
ปีการศึกษา 2562-2564 คือ ครูจำนวน 17 คน คณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 15 คน ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 7 คน และผู้เรียนจำนวน 450 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ รูปแบบ LEADER การสนทนากลุ่ม แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง แบบบันทึกการสังเกต แบบสำรวจความคิดเห็น การบันทึกภาพนิ่ง และบันทึกวีดิทัศน์ ใช้วิธีการวิจัยผสานวิธี (mixed method)
ผลการศึกษาพบว่า 1) สภาพปัจจุบัน ครูยังขาดความเข้าใจ และขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ Active Learning และครูยังไม่เคยจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการแก้ปัญหา สภาพที่พึงประสงค์ หลังจากที่ผู้ศึกษาสร้างความตระหนักรู้ให้กับครูแล้ว ครูได้สะท้อนถึงการจัดการเรียนรู้ Active Learning ว่า ครูมีความตระหนักรู้และสนใจในการจัดการเรียนรู้ Active Learning มากขึ้น 2) รูปแบบที่สร้างขึ้น ได้แก่ ขั้นนำ (Leader) ขั้นกระตุ้น (Encouragement) ขั้นลงมือปฏิบัติ (Act) ขั้นสุนทรียสนทนา (Dialogue) ขั้นเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ (Experiential Learning) และ ขั้นปรับปรุง พัฒนา (Reformation) หรือ LEADER 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบ LEADER ได้แก่ ขั้น L และ ขั้น E ผู้บริหารสถานศึกษา มีบทบาทอำนวยความสะดวก และครูโค้ช ทั้งยังให้แรงเสริมครู รวมถึงเปลี่ยนกรอบแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจกับครู ขั้น A ครูยอมรับการเปลี่ยนแปลงและผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ขั้น D ครูนำกระบวนการ PLC มาพัฒนาผู้เรียน และยังสามารถพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ PBL ได้ ส่วนขั้น E ครูเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง และขั้น R พบว่า ครูมีความสามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้ PBL และครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน 4) ผลการประเมินการใช้รูปแบบ LEADER ผู้เรียนคิดเห็นว่า บทบาทผู้เรียน และบทบาทครูปรับเปลี่ยนได้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ PBL ส่วนครูคิดเห็นว่า ขั้น L และขั้น E ผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำทางวิชาการ เปิดโอกาสให้ครูมีอิสระทางความคิด เปลี่ยนกรอบแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจกับครู ขั้น A ผู้เรียน ชี้นำตนเอง และเรียนรู้ด้วยวิธีแก้ปัญหา ส่วนบทบาทครูคือ ผู้อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด ขั้น D ครูแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และคิดทบทวนไตร่ตรองจนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรม PLC มาพัฒนาผู้เรียน ขั้น E พบว่า ครูและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และขั้น R ครูจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมถึงครูมีความสามารถในการปรับวิธีการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อตอบสนองผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการจัดการเรียนรู้ Active Learning โรงเรียนประเสริฐอิสลาม is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.