การวิจัยและพัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
Research and Development of the Center for Educational Administration with Digital Technology in the Situation of the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Outbreak, SamutPrakan Primary Educational Service Area Office 1
: ชื่อผู้วิจัย นาย ภูมิ พระรักษา
: ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
: เทคโนโลยีการศึกษา
: ปี 2564
: 1775
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยและพัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา และศึกษาแนวทางการบริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) เพื่อพัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 3) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ 4) เพื่อประเมินศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สภาพปัญหา และศึกษาแนวทางการบริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดำเนินการโดยใช้การวิเคราะห์เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกับการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ระยะที่ 2 พัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการออกแบบยกร่างโดยผู้วิจัย และการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการนิเทศ ติดตามการดำเนินงาน สำรวจข้อมูลผลการดำเนินงาน ทดสอบสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และประชุมสะท้อนผลการดำเนินงานด้วยเทคนิคการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review: AAR) และระยะที่ 4 ประเมินศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และคู่มือการดำเนินงานโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมิน (Inter Rater) ด้วยค่า Intra Class Correlation: ICC ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สรุปผล ดังนี้
สรุปผล
1. สภาพปัญหา และแนวทางการบริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สรุปได้ว่า นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งโรงเรียนบางส่วนยังขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จำเป็นในการบริหารจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอน บางส่วนยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการศึกษา และการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนบางส่วนยังขาดสื่อการสอนสำหรับใช้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล วัสดุอุปกรณ์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และงบประมาณยังไม่เพียงพอ ส่วนการสื่อสารถึงแนวทางการปฏิบัติระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนยังขาดความชัดเจน และความรวดเร็วทำให้โรงเรียนเกิดความสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อน การดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย รวมทั้งปัญหาข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ โรงเรียนส่วนใหญ่รอแนวทางการปฏิบัติจากส่วนกลาง ส่งผลให้การปฏิบัติขาดความต่อเนื่อง ไม่ทันเวลาในการแก้ปัญหาและความต้องการจำเป็นของพื้นที่ รวมทั้งปัญหาครูผู้สอนที่จัดการเรียนการสอนทางไกลยังขาดเทคนิคในการสอนเพื่อจูงใจผู้เรียนให้สนใจกิจกรรมการเรียนการสอน ครูบางส่วนจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้และความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งมีความแตกต่างกัน รวมถึงเด็กปฐมวัยที่ไม่สามารถนั่งเรียนผ่านหน้าจอได้เป็นเวลานาน เนื่องจากธรรมชาติของเด็กที่เรียนรู้ได้ดีจากการลงมือปฏิบัติ ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้และขาดพัฒนาการจากการเรียนโดยใช้การจัดการเรียนการสอนทางไกล เว็บไซต์ที่ใช้ในการเรียนรู้บางส่วนยังขาดความเสถียร ส่งผลให้ช่องทางหลักในการเรียนออนไลน์ล่ม นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้ การเรียนแบบออนไลน์สำหรับเด็กเล็กจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองบางคนไม่มีเวลาที่จะดูแลบุตรหลานเนื่องจากต้องทำงานประจำ หารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในครอบครัว และพัฒนาการที่ต่อเนื่องของเด็กเล็ก และผู้ปกครองบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา ทำให้ไม่สามารถให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ชี้แนะ เมื่อผู้เรียนไม่เข้าใจบทเรียน
สรุปแนวทางการบริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 พบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ควรกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลและการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ครู และโรงเรียน และหลากหลาย ผ่านการทำงานร่วมกันและประสานความร่วมมือ คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับเป็นสำคัญ ควรสนับสนุน ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และแก้ปัญหาตรงตามความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรมีแผนสำรองและมาตรการการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการสื่อสารถึงนโยบายด้วยความชัดเจนในการปฏิบัติ และบทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของนโยบายที่วางไว้ ควรสนับสนุนให้ครูสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างสะดวก ควรมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมออนไลน์ที่ให้บริการโดยทั่วไป จัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบที่หลากหลาย ในกรณีที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนควรมีการสนับสนุนผู้เรียนเพิ่มเติม ควรสร้างเจตคติที่ดีในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้แก่ครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรออกแบบหลักสูตร โครงสร้างเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล โดยการกระชับหลักสูตรและปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียนและความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้ ทั้งนี้การจัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) อันอาจเกิดขึ้นซ้ำได้
2. การพัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
ศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 จัดตั้งขึ้นในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบบริหาร และสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างปลอดภัยทั้งนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ 2) ระบบการประชุม 3) ระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน 4) ระบบการนิเทศ ติดตามและประเมินผล และ 5) ระบบการพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้การตรวจสอบศูนย์ฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ด้านความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นประโยชน์และความเป็นไปได้ โดยภาพรวมและรายด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ภาพรวมของศูนย์ฯ รองลงมาคือ ระบบการประชุม ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ระบบการนิเทศ ติดตามและประเมินผล และระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ตามลำดับ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ระบบการพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา และผลการตรวจสอบคู่มือการดำเนินงานของศูนย์ฯ จำนวน 4 มาตรฐาน คือ ความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นประโยชน์และความเป็นไปได้ พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ เนื้อหาของคู่มือมีความถูกต้อง สมบูรณ์ รองลงมาคือองค์ประกอบและรายละเอียดของคู่มือถูกต้อง ครบถ้วน บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในคู่มือมีความชัดเจนเหมาะสม การดำเนินงานตามองค์ประกอบในคู่มือมีความเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ และคู่มือการดำเนินงานเป็นไปได้สอดคล้องเชื่อมโยงกับองค์ประกอบ ตามลำดับและข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ คู่มือมีประโยชน์ในการดำเนินงาน
3. การดำเนินงานของศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
สรุปผลการศึกษาผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ของโรงเรียนในสังกัด จำนวน 72 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2563-2564 พบว่า 1) ความครบถ้วนของข้อมูลสารสนเทศความพร้อมของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง สรุปผลการบันทึกข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความพร้อมในการบริหารการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง คิดเป็นร้อยละ 100 2) ประสิทธิผลการประชุมโดยใช้ระบบทางไกลของโรงเรียน 72 โรงเรียน พบว่า ระบบการประชุมมีภาพและเสียงชัดเจนทุกโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 100 โดยจำแนกตามระบบที่ใช้เป็น Google Meet 72 โรงเรียน Zoom Meeting 25 โรงเรียน และ Line Meeting 72 โรงเรียน 3) การเข้าถึงระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของครู จำนวน 1,953 คน พบว่า เข้าถึงระบบการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 จำแนกเป็นระบบ LMS จำนวน 517 คน ระบบปฐมวัย จำนวน 350 คน ระบบ DLTV จำนวน 930 คน และระบบ DLIT จำนวน 156 คน 4) การติดตามความก้าวหน้าและการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้รับการนิเทศ ติดตาม จำนวน 135 คน คิดเป็นร้อยละ 100 และครูได้รับการนิเทศ ติดตาม จำนวน 1,953 คน คิดเป็นร้อยละ 100 และ 5) การสร้างสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้รับการเสริมสร้างสมรรถนะการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 135 คน คิดเป็นร้อยละ 100 และครูได้รับการเสริมสร้างสมรรถนะการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 1,953 คน คิดเป็นร้อยละ 100
ทั้งนี้การทดสอบสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขั้นพื้นฐาน เท่ากับ 12.57 ขั้นต้น เท่ากับ 13.05 และขั้นประยุกต์ เท่ากับ 13.51 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์คะแนนร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
ผลการประเมินศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความสอดคล้อง โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสุงสุด คือ ภาพรวมศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รองลงมา คือ ด้านระบบการประชุม ระบบการพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ระบบการนิเทศ ติดตามและประเมินผล ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ตามลำดับ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ผลการประเมินคู่มือการดำเนินงานของศูนย์ฯ จำนวน 4 ด้าน คือ ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความสอดคล้อง พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในคู่มือมีความชัดเจนเหมาะสม รองลงมาคือ ขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ภาษาในคู่มือสามารถการสื่อความและอธิบายได้เหมาะสมชัดเจน
การวิจัยและพัฒนาศูนย์บริหารการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1Research and Development of the Center for Educational Administration with Digital Technology in the Situation of the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Outbreak, SamutPrakan Primary Educational Service Area Office 1 is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.