รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียนโดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
: ชื่อผู้วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2559
: 6299
บทคัดย่อ (Abstract)
ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เป็นการจัดปัจจัยและกระบวนการดำเนินงานทั้งด้านองค์กร หน่วยงานกลาง คณะบุคคล หลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางเพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนและประชาชนได้นำผลการเรียน ผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์การทำงาน การประกอบอาชีพ หรือการฝึกอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สะสมไว้มาเทียบโอนกันได้ เพื่อการเรียนรู้และการทำงาน การประกอบอาชีพ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนหรือผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสเชื่อมโยงผลการเรียนรู้และ/หรือประสบการณ์การทำงาน การประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อน สามารถนำไปใช้ในการเรียนและการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการพัฒนาประเทศในที่สุด
จากการศึกษาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของต่างประเทศ พบว่า การสะสมหน่วยการเรียนรู้นั้น เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สามารถพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียน ประชากรวัยแรงงานของประเทศ โดยการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์จากการทำงานมาสู่คุณวุฒิทางการศึกษาในรูปหน่วยกิต เพื่อให้แรงงานสามารถนำหน่วยการเรียนรู้ไปใช้ในการศึกษาต่อ และนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพในระดับที่สูงขึ้น เกิดการพัฒนายกระดับความรู้ ความสามารถในการทำงาน สร้างผลิตภาพเพิ่มให้กับประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะหน่วยงานจัดทำนโยบายการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียน จึงดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนได้รูปแบบที่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และสำนักงานฯ ได้ดำเนินการทดลองนำร่องรูปแบบดังกล่าวข้างต้นภายใต้โครงการการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียน โดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยดำเนินการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ที่มีความหลากหลายของประชากร มีการจัดการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษา มีสถานศึกษาเข้าร่วมการทดลองนำร่อง จำนวน ๑๑ แห่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (วิทยาลัยชุมชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียนโดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.