ปัจจัยทางจิตลักษณะและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เป็นรุ่นแรกของครอบครัว
Psychological Characteristics and Situational Factors as Correlates of Study Engagement Behavior of The First-Generation University Students
: ชื่อผู้วิจัย นาย กฤษณะโชติ บัวหล้า
: ตำแหน่ง อาจารย์ประจำหลักสูตร
: อุดมศึกษา
: ปี 2561
: 379
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตลักษณะเดิม สถานการณ์ และจิตลักษณะตามสถานการณ์กับพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียน ตลอดจนแสวงหาตัวทำนายและปริมาณการทำนายพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เป็นรุ่นแรกของครอบครัว กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ คัดเลือกเฉพาะนักศึกษาปริญญาตรีที่เป็นรุ่นแรกของครอบครัว ชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2 จำนวน 543 คน จากมหาวิทยาลัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ประกอบไปด้วยเพศชาย 123 คน (22.7%) และเพศหญิง 420 คน (77.3%) อายุเฉลี่ย 19 ปี 8 เดือน สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มรวม และใน 18 กลุ่มย่อย ซึ่งแบ่งตามลักษณะชีวสังคมภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่าง
กรอบแนวคิดรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยมเป็นพื้นฐานในการกำหนดกลุ่มตัวแปรที่สำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1) กลุ่มจิตลักษณะเดิม 4 ตัวแปร ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การประเมินแก่นแห่งตน ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน และเอกลักษณ์แห่งอีโก้ 2) กลุ่มตัวแปรสถานการณ์ 4 ตัวแปร ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคมจากอาจารย์ที่ปรึกษา/ใกล้ชิด การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและใช้เหตุผล การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน/รุ่นพี่ และความคาดหวังจากครอบครัวในการเรียน 3) กลุ่มจิตลักษณะตามสถานการณ์ 3 ตัวแปร ได้แก่ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ความเครียดในการเรียน และความเชื่ออำนาจในตนด้านการเรียน 4) กลุ่มพฤติกรรม 3 ตัวแปร คือ พฤติกรรมกระตือรือร้นในการเรียน พฤติกรรมอุทิศตนให้กับการเรียน และพฤติกรรมจดจ่อใส่ใจในการเรียน และ 5) กลุ่มตัวแปรชีวสังคมภูมิหลัง แบบวัดส่วนใหญ่เป็นแบบวัดชนิดมาตรประเมินรวมค่า มีค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดอยู่ระหว่าง .67 ถึง .90
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญมี 4 ประการ คือ ประการแรก พฤติกรรมมุ่งในการเรียนมีความสัมพันธ์กันทางบวกในปริมาณปานกลาง (r= .43 ถึง .57) ประการที่สอง จิตลักษณะเดิมและสถานการณ์ รวม 8 ตัวแปร สามารถทำนายจิตลักษณะตามสถานการณ์ 3 ตัวแปร คือ 1) ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนในกลุ่มรวม ทำนายได้ 51.7% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน การประเมินแก่นแห่งตน ความคาดหวังจากครอบครัวในการเรียน เอกลักษณ์แห่งอีโก้ และการสนับสนุนทางสังคมจากอาจารย์ที่ปรึกษา/ใกล้ชิด 2) ความเครียดในการเรียนในกลุ่มรวม ทำนายได้ 50.2% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ เอกลักษณ์แห่งอีโก้ การประเมินแก่นแห่งตน ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน และ 3) ความเชื่ออำนาจในตนด้านการเรียนในกลุ่มรวม ทำนายได้ 58.9% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน เอกลักษณ์แห่งอีโก้ การประเมินแก่นแห่งตน
ประการที่สาม จิตลักษณะเดิม สถานการณ์ และจิตลักษณะตามสถานการณ์ รวม 11 ตัวแปร สามารถทำนายพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียนทั้ง 3 ด้าน ได้ดังนี้ 1) พฤติกรรมกระตือรือร้นในการเรียนในกลุ่มรวม ทำนายได้ 45.5% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ ความเชื่ออำนาจในตนด้านการเรียน ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การประเมินแก่นแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคมจากอาจารย์ที่ปรึกษา/ใกล้ชิด 2) พฤติกรรมอุทิศตนให้กับการเรียนในกลุ่มรวม ทำนายได้ 27.1% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน/รุ่นพี่ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ความคาดหวังจากครอบครัวในการเรียน และ3) พฤติกรรมจดจ่อใส่ใจในการเรียนในกลุ่มรวมทำนายได้ 40.2% โดยมีตัวทำนายสำคัญ คือ ความเครียดในการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน และความคาดหวังจากครอบครัวในการเรียน
ประการสุดท้ายจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือ 1) กลุ่มนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำ 2) กลุ่มนักศึกษาเพศหญิงที่ไม่ใช่บุตรคนแรก 3) กลุ่มนักศึกษาเพศชายที่เป็นลูกคนแรก 4) กลุ่มนักศึกษาเพศชาย ระดับการศึกษาผู้ปกครองต่ำ เรียนสายสังคมศาสตร์ 5) กลุ่มนักศึกษาเพศหญิง ระดับการศึกษาผู้ปกครองสูง เรียนสายวิทยาศาสตร์ โดยมีปัจจัยปกป้องคือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน/รุ่นพี่ การสนับสนุนทางสังคมจากอาจารย์ที่ปรึกษา/ใกล้ชิด และการลดความเครียดในการเรียน
จากผลการวิจัยทำให้ได้ข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดการวิจัย ดังนี้ 1) สามารถนำผลการวิจัยมากำหนดตัวแปรในการทำวิจัยเชิงทดลองเพื่อสร้างชุดฝึกอบรมพัฒนาจิตลักษณะและสถานการณ์ที่เหมาะสม 3 ด้าน คือ สร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน และลดความเครียดในการเรียน ส่วนด้านสถานการณ์ สถานศึกษาควรพัฒนาการสนับสนุนทางสังคมจากอาจารย์ที่ปรึกษา/ใกล้ชิด และเพื่อน/รุ่นพี่ แก่นักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น 2) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis) เพื่อหาอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของปัจจัยเชิงเหตุที่มีต่อพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียน จะทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างจิตลักษณะเดิม สถานการณ์ และจิตตามสถานการณ์ไปยังพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียนได้ชัดเจนมากขึ้น
ปัจจัยทางจิตลักษณะและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมุ่งมั่นในการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เป็นรุ่นแรกของครอบครัวPsychological Characteristics and Situational Factors as Correlates of Study Engagement Behavior of The First-Generation University Students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.