การพัฒนาพฤติกรรมของผู้ปกครองในการจัดอาหารให้เด็กปฐมวัย
Behavior development of parents in food arrangements to early childhood

: ชื่อผู้วิจัย นางสาว ชูศรี กาญจนวงศ์
: ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน
: ปฐมวัย
: ปี 2564
: 1256

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การพัฒนาพฤติกรรมของผู้ปกครองในการจัดอาหารให้เด็กปฐมวัย เป็นการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาเกี่ยวกับภาวะโภชนาการของเด็กปฐมวัยในโรงเรียน และเพื่อพัฒนาความรู้ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ปกครอง ประชากรการวิจัยนี้ศึกษากับเด็กปฐมวัย จำนวน 102 คน และกลุ่มผู้ปกครองเด็กปฐมวัย จำนวน 94 คน โรงเรียนบ้านในถุ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่หลักสูตรการพัฒนาพฤติกรรมผู้ปกครองที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างความรู้ให้กับผู้ปกครองในการจัดอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย และหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำเมนูชูสุขภาพเด็กปฐมวัย 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ไดแก่ แบบสอบถามเพื่อสำรวจและประเมินพฤติกรรมการจัดอาหารของผู้ปกครองเด็กปฐมวัย แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองในเรื่องการจัดอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย ผู้วิจัยดำเนินการการวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลตามลำดับขั้นตอนของการดำเนินการวิจัย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อม ขั้นที่ 2 การวางแผนและพัฒนาเครื่องมือปฏิบัติการ ขั้นที่ 3 ดำเนินการเก็บข้อมูลพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนา ขั้นที่ 4 เก็บข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย สรุป และขั้นที่ 5 เขียนรายงานการวิจัย (มิถุนายน-กันยายน2564)

สรุปผลการวิจัย 1) เด็กปฐมวัยในโรงเรียนมีภาวะโภชนาการปกติร้อยละ 84.26 มีภาวะทุพโภชนาการในลักษณะผอม ร้อยละ 6.48 เริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 4.63 ผอมและเตี้ยร้อยละ 3.70 เตี้ยร้อยละ 0.92 หลังจากผู้ปกครองได้รับการพัฒนา เด็กปฐมวัยในโรงเรียนมีภาวะโภชนาการปกติเพิ่มขึ้น 5.55 2) ผู้ปกครอง มีคะแนนหลังการอบรมหลักสูตรการสร้างความรู้ในการจัดอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00-100.00 และมีคะแนนเฉลี่ยความรู้หลังการอบรมปฏิบัติการ สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการอบรมปฏิบัติการ การจัดทำเมนูชูสุขภาพเด็กปฐมวัย ภาพรวมระดับมากในทุกด้าน

4). หลังได้รับการพัฒนาผู้ปกครองมีพฤติกรรมการจัดอาหารให้เด็ก เป็นไปตามกองโภชนาการ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในเรื่องรสชาติโดยเน้นการปรุงอาหารรสจืดมากขึ้นจากร้อยละ 30.90 เป็นร้อยละ 74.50 โดยเฉพาะการลดอาหารรสหวานจากร้อยละ 33.00 เหลือ ร้อยละ 7.40 และ ลดอาหารรสชาติเค็มจากร้อยละ 7.40 เหลือร้อยละ 1.10 ผู้ปกครองเริ่มเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นน้ำมันจากธรรมชาติที่ให้พลังงานเพียงพอต่อการเจริญเติบโตแทนน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.40 และ 5) .หลังจากได้รับการพัฒนา ผู้ปกครองปฏิบัติในการจัดอาหารที่เหมาะสม โดยมีการจัดอาหารประเภทผักและผลไม้ให้เด็กทุกวัน จัดอาหารประเภทนมและเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง และถั่วให้เด็ก 4-6 วันต่อสัปดาห์และทุกวัน ทุกคน (ร้อยละ 100) และลดการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในการจัดอาหารให้เด็กปฐมวัย เช่น การจัดให้เด็กได้รับประทานอาหารประเภทของทอด อาหารสำเร็จรูป ขนมที่มีรสหวาน เครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารที่มีสารปรุงแต่ง อาหารหมักดอง อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ ลดลงเหลือ ร้อยละ 1.10

`

การพัฒนาพฤติกรรมของผู้ปกครองในการจัดอาหารให้เด็กปฐมวัยBehavior development of parents in food arrangements to early childhood is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.