การจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการด้วยสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์โดยใช้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป็นฐาน ในหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
The Development of Creative Science Inquiry Competency for Mattayomsuksa 3 Students by using STEM Integrated on Science Instruction through Sustainable Development Goals (SDGs) ; Ecosystem and Environment
: ชื่อผู้วิจัย นายสุธิพงษ์ ใจแก้ว
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2562
: 654
บทคัดย่อ (Abstract)
การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้แก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม และต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบการรักษาสมดุลของโลกอย่างยั่งยืน การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการด้วยสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ โดยใช้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป็นฐาน ในหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาผลการพัฒนาและผลสะท้อนด้านสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ และศึกษาความสัมพันธ์ของประเด็นสร้างสรรค์กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย จำนวน 120 คน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบจับสลากจากห้องเรียนที่ได้รับมอบหมายให้สอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 5 แผน แบบประเมินสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยบันทึกสรุปและอธิบาย และข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการแปลผลระดับสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนสามารถเรียนรู้เชิงลึกในทรัพยากรท้องถิ่นที่สนใจด้วยตนเอง ทั้งนี้สามารถเชื่อมโยงบทบาทและความสัมพันธ์ที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยบรรลุวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตลอดจนสามารถเสนอนวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหา การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม จำนวน 10 ประเด็น ผลการประเมินสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์โดยรวม อยู่ในระดับชำนาญ (Proficient) ขึ้นไป (จากสมรรถนะ 4 ระดับ) คิดเป็นร้อยละ 80 การวิเคราะห์ประเด็นสร้างสรรค์ของนักเรียนที่สัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุม 13 เป้าหมาย การติดตามผลการพัฒนาต่อยอดประเด็นสร้างสรรค์ภายหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 1 ภาคเรียน พบว่า นักเรียนได้เผยแพร่และนำเสนอผลงานในเวทีระดับชาติและนานาชาติซึ่งเป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้
การจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการด้วยสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถนะการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์โดยใช้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป็นฐาน ในหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3The Development of Creative Science Inquiry Competency for Mattayomsuksa 3 Students by using STEM Integrated on Science Instruction through Sustainable Development Goals (SDGs) ; Ecosystem and Environment is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.