แนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย
Guidelines for Developing a Learning Management System to support Alternative Education for Basic Education of Thailand.

: ชื่อผู้วิจัย นายสุริยะ วชิรวงศ์ไพศาล
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2563
: 448

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการบริหารการจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) สร้าง ทดลองใช้ และประเมินระบบการบริหารการจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 3) นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ คณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบไอซีทีเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ปีการศึกษา 2563 วิธีดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ 2) การออกแบบและพัฒนาระบบ 3) การทดสอบการใช้งานและประเมินผล และ 4) การปรับปรุงสมรรถนะของระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าความถี่ และร้อยละ ส่วนเชิงคุณภาพเป็นการวิเคราะห์แก่นสาระ

ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมของประเทศไทยมีประเด็นสำคัญก็คือ การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ (1) หลักสูตร (2) วิธีการเรียนการสอน (3) สื่อการสอน (4) การวัดและประเมินผล และ (5) การบริหารจัดการ การบริหารงานระบบบริหารจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย 1) การออกแบบระบบให้ตอบสนองต่อการทำงานทุกฟังก์ชัน 2) การใช้วิธีการมาตรฐานพัฒนาระบบเพื่อให้การใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์ 3) การสร้างสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีทั้งในส่วนของผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และผู้เรียน และ 4) การกำหนดเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้งานเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในระบบที่พัฒนาขึ้นโดยเห็นว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี การนำไปใช้งานตามรูปแบบที่กำหนด และมีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก 2) ระบบมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย ระบบจัดการหลักสูตร ระบบสร้างบทเรียน ระบบทดสอบและประเมินผล ระบบส่งเสริมการเรียน ระบบจัดการข้อมูล เว็บไซต์ กระดานสนทนา คลังความรู้ ดาวน์โหลดเอกสาร และภาพกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสามารถเป็นทางเลือกให้กับเยาวชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีระบบที่ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ด้านที่สนใจตามความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

`

แนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางเลือกสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยGuidelines for Developing a Learning Management System to support Alternative Education for Basic Education of Thailand. is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.