การพัฒนาหลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
DEVELOPMENT OF GLOBAL EDUCATION CURRICULUM TO ENHANCE GLOBAL COMPETENCY AMONG UPPER SECONDARY SCHOOL STUDENTS
: ชื่อผู้วิจัย ดร.กนก จันทรา
: ตำแหน่ง -
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2561
: 338
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้องค์ประกอบของสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พัฒนาหลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตร การดำเนินการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนาตัวบ่งชี้สมรรถนะสากล ขั้นตอนที่ 2 การสร้างหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรจากสมรรถนะสากลที่พัฒนาขึ้น ขั้นตอนที่ 3 การประเมินประสิทธิภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรโดยนำไปทดลองใช้เป็นเวลา 18 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมจำนวน 30 คน โดยเลือกวิธีการแบบเจาะจง ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์แปรปรวนพหุคูณ (MANOVA) ซึ่งมีผลวิจัยดังนี้
การพัฒนาตัวบ่งชี้สมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า ตัวบ่งชี้สมรรถนะสากลประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ รวมทั้งหมด 78 ตัวบ่งชี้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 1) ด้านความรู้ 20 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 และความรู้เกี่ยวกับโลก 2) ด้านทักษะจำนวน 39 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ การคิดเชิงระบบและการคิดเชิงอนาคต การคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และทักษะสังคมและการทำงานแบบร่วมมือร่วมพลัง และ 3) ด้านคุณลักษณะจำนวน 19 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ การนำตนเองและความใฝ่รู้ และการปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองโลก และพบว่าตัวบ่งชี้ทั้งหมดได้รับฉันทามติจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโดยมีค่ามัธยฐานตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป มีค่าพิสัย ควอไทล์ไม่เกิน 1.50 และค่าสัมบูรณ์ของผลต่างระหว่างฐานนิยมและมัธยฐานไม่เกิน 1.00
หลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีองค์ประกอบ 9 องค์ประกอบ ได้แก่ วิสัยทัศน์ หลักการ จุดมุ่งหมาย ผลการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้ โครงสร้างเวลาเรียน แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ โครงสร้างของหลักสูตรพัฒนามาจากการพัฒนาสมรรถนะสากลและการจัดการศึกษาโลกศึกษามีเนื้อหาออกเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ เวลาเรียน 18 ชั่วโมง
การประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญประเมินคุณภาพและเอกสารหลักสูตร พบว่ามีผลการประเมินในระดับมาก ส่วนการประเมินประสิทธิผลของหลักสูตร พบว่าคะแนนสมรรถนะสากลหลังการใช้หลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงกว่าก่อนใช้หลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจของนักเรียนหลังการใช้หลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
การพัฒนาหลักสูตรโลกศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะสากลสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายDEVELOPMENT OF GLOBAL EDUCATION CURRICULUM TO ENHANCE GLOBAL COMPETENCY AMONG UPPER SECONDARY SCHOOL STUDENTS is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.