โครงการวิจัยเพื่อค้นหาและพัฒนาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนและกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน
Research And Development Of The Desired Outcomes Of Learners And Core Competency Framework For Thai Learners

: ชื่อผู้วิจัย นายวีรพล วีระโชติวศิน
: ตำแหน่ง -
: อื่นๆ
: ปี 2563
: 366

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

โครงการวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อค้นหาและพัฒนาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียน (Desired Outcomes Of Learners: DOL) และกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน (Core Competency Framework) จึงมีการแบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1: การวิจัยเพื่อพัฒนาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียน

จากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาวิเคราะห์เอกสารระดับนโยบายทางการศึกษา การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน และองค์กรนอกภาครัฐ ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณกับกลุ่มตัวอย่างคนไทย จำนวน 1,001 คน เพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) พบว่าผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียน (Desired Outcomes Of Learners: DOL) ที่พบในงานวิจัยนี้ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้นำตนเองในการเรียนรู้ (Self-Directed Learner: SDL) ด้านผู้สืบสานความเป็นไทย (Thai Millennial: TM) ด้านพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะ (Citizen With Public Consciousness: CPC) และด้านนวัตกรในยุคดิจิทัล (Digital Innovator: DI)

ส่วนที่ 2: การวิจัยเพื่อพัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนไทย

จากการวิจัยผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียน ร่วมกับการศึกษาวิเคราะห์สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนจากเอกสารทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ คณะผู้วิจัยได้พัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนไทยโดยมีการกำหนดนิยาม ระดับความเชี่ยวชาญ และพฤติกรรมบ่งชี้ ซึ่งกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนไทยประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะการนำตนเอง (Self-Directedness: SD) สมรรถนะการจัดการอารมณ์ (Emotional Management: EM) สมรรถนะการสื่อสาร (Communication: CM) สมรรถนะการทำงานร่วมกัน (Collaboration: CL) สมรรถนะการแก้ไขปัญหา (Problem-Solving: PS) และสมรรถนะการขับเคลื่อนสังคม (Social Transformation: ST)

ต่อมาคณะผู้วิจัยได้วิจัยและพัฒนามาตรวัดสมรรถนะหลักผู้เรียนจากกรอบสมรรถนะที่กำหนด โดยมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรวัดสมรรถนะด้วยการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Item-objective Congruence: IOC) การตรวจสอบความเข้าใจเชิงปัญญา (Cognitive Probe) และการศึกษานำร่อง (Pilot Study) กับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 796 คน อายุ 15 - 18 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 16.33 ปี เพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ทำให้ได้มาตรวัดสมรรถนะหลักของผู้เรียนไทยที่ประกอบด้วยคำถามทั้งหมด 20 ข้อ (Cronbach’s Alpha 0.842) ได้แก่ ข้อคำถามสมรรถนะการนำตนเอง จำนวน 3 ข้อ ข้อคำถามสมรรถนะการจัดการอารมณ์ จำนวน 4 ข้อ ข้อคำถามสมรรถนะการสื่อสาร จำนวน 3 ข้อ ข้อคำถามสมรรถนะการทำงานร่วมกัน จำนวน 4 ข้อ ข้อคำถามสมรรถนะการแก้ไขปัญหา จำนวน 3 ข้อ และข้อคำถามสมรรถนะการขับเคลื่อนสังคม จำนวน 3 ข้อ ซึ่งแต่ละคำถามประกอบด้วยตัวอย่างสถานการณ์จำลองจากชีวิตในโรงเรียนและชีวิตประจำวัน พร้อมตัวเลือกตามระดับความเชี่ยวชาญ 0 – 8 ระดับ โดยแบ่งออกเป็น ระดับ 0 - 3 เป็นตัวเลือกสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น (อายุ 7 – 9 ปี) ระดับ 0 - 5 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (อายุ 10 – 12 ปี) และระดับ 4 – 8 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา (อายุ 13 ปี เป็นต้นไป)

นอกจากผลการวิจัยดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้จัดทำแนวทางการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยเริ่มจากการออกแบบกระบวนการวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมในระหว่างการดำเนินการวิจัย เพื่อให้ผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนและกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนเป็นเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้สื่อสาร ต่อยอดได้อย่างทั่วถึงและเข้าใจง่าย นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้ประสานงานและสร้างความสอดคล้องในแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับนโยบาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกิจกรรมการสื่อสารและอบรมให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาฐานสมรรถนะ

`

โครงการวิจัยเพื่อค้นหาและพัฒนาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนและกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนResearch And Development Of The Desired Outcomes Of Learners And Core Competency Framework For Thai Learners is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.