รูปแบบและการจัดการศึกษาแก่ทายาทรุ่นที่สองของผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่า
Education Models for the Second Generation Migrants from Myanmar
: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.บุบผา อนันต์สุชาติกุล
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2554
: 2485
บทคัดย่อ (Abstract)
การอพยพมาสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ของชาวพม่าจากภัยความขัดแย้งทางการเมืองภายในตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 กอรปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ต้องการแรงงานสูง ทำให้การอยู่ร่วมกันของคนไทยและผู้อพยพเป็นไปในลักษณะ 2 ขั้วความสัมพันธ์ มีการพึ่งพิงเอื้อประโยชน์ต่อกันในมิติเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม-วัฒนธรรมเกิดช่องว่างในการอยู่ร่วมกัน การจัดการศึกษาภายใต้บริบทสังคมไทยปัจจุบันที่ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน ได้ทำบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร การวิจัยนี้ได้ศึกษารูปแบบและการจัดการศึกษาสำหรับทายาทรุ่นที่สองของผู้อพยพจากประเทศพม่า ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษา ตลอดจนข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและสงบสันติระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรมโดยตระหนักในความสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
จากเอกสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสนทนากลุ่ม และสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการกับผู้สอน ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ศึกษาวิจัย พบการจัดการศึกษาแก่ทายาทรุ่นที่สองของผู้อพยพจากประเทศพม่าที่สำคัญ 3 รูปแบบ 1) รูปแบบที่นำไปสู่การหลอมรวมปลูกฝังความเป็นไทยภายใต้แนวคิดเอกวัฒนธรรมเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยใช้หลักสูตรและการสอนแบบเดียวกับเด็กไทย ไม่อ่อนไหวตอบสนองความต้องการเฉพาะของเด็กไร้สัญชาติ 2) รูปแบบที่ปลูกฝังความเป็นไทยแนวพหุวัฒนธรรมแม้เพียงบางส่วน หลักสูตรมีความยืดหยุ่น ให้โอกาสเรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง เปิดทางเลือกเพื่อการอยู่ในประเทศไทยหรือคืนสู่มาตุภูมิ 3) รูปแบบที่คำนึงถึงการคืนสู่มาตุภูมิหรือไปประเทศที่สาม ในรูปแบบแรก ทั้งหมดดำเนินการโดยสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ สำหรับสองรูปแบบหลังส่วนใหญ่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรและโดยผู้อพยพที่มีศักยภาพ พบการดำเนินงานในโรงเรียนของรัฐบางส่วนแต่เป็นเพียงการเริ่มต้นและเป็นจำนวนน้อยมาก
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาติโดยภาครัฐและนอกภาครัฐยังขาดคุณภาพและทิศทางที่เหมาะสมตอบสนองความต้องการและความด้อยโอกาสของเด็กไร้สัญชาติ ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1) จากการที่รัฐไม่กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตสถานะของทายาทรุ่นที่สองของผู้อพยพ ทำให้ขาดรูปธรรมชัดเจนในระดับปฏิบัติงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ 2) ทัศนะและความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต่อนิยาม “คนไทย” และการปลูกฝัง “ความเป็นไทย” ที่ผูกติดกับแนวคิดวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว หรือ “เอกวัฒนธรรม” ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแบ่งแยกกีดกันต่อบุคคลที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาวะ ความสามารถ รวมทั้งถิ่นที่อยู่อาศัย
รูปแบบและการจัดการศึกษาแก่ทายาทรุ่นที่สองของผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่าEducation Models for the Second Generation Migrants from Myanmar is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.