การจัดการเรียนรู้เพศศึกษาโดยใช้รูปแบบ “ความรัก” เพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา
Learning Management on Sex Education By Using Love Model for Comprehensive Humanization Based Upon Contemplative Education
: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2555
: 2414
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้และความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาโดยใช้รูปแบบ “ความรัก” เพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตที่เรียนรายวิชาเพศศึกษาของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคปลายปีการศึกษา 2554 จำนวน 80 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 คนและกลุ่มเปรียบเทียบ 40 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา แบบประเมินความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และแบบประเมินความพึงพอใจในกิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที (t-test) และ One Way MANOVA ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งผลการวิจัยพบว่าหลังเรียนกลุ่มทดลองมีพัฒนาการดีขึ้นและดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบในด้านความดี ความจริง และความรู้ (ความรู้ในเนื้อหา ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเพศ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาโดยใช้รูปแบบ “ความรัก” อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือควรมีการทำวิจัยเพื่อผลักดันนโยบายให้จัดการเรียนรู้โดยใช้ “รูปแบบความรัก” ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในรายวิชาต่างๆ ทุกรายวิชา และครอบคลุมทุกระดับชั้นเพื่อเน้นให้ผู้เรียนเกิด “การรู้จักตนเองที่สมบูรณ์นำไปสู่การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ทำให้สังคมเป็นสุข”
การจัดการเรียนรู้เพศศึกษาโดยใช้รูปแบบ “ความรัก” เพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาLearning Management on Sex Education By Using Love Model for Comprehensive Humanization Based Upon Contemplative Education is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.