กลยุทธ์การสร้างความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียนจากผลการวิเคราะห์เอสอีเอ็ม : การพัฒนาและการนำไปปฏิบัติ
STRATEGIES FOR ENHANCING SCHOOL ENGAGEMENT OF STUDENTS FROM THE RESULTS OF SEM ANALYSIS: DEVELOPMENT AND IMPLEMENTATION

: ชื่อผู้วิจัย นางสาวบงกช วงศ์หล่อสายชล
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2556
: 2353

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อวิเคราะห์ระดับความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียน 2) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียน 3) เพื่อนำเสนอกลยุทธ์การสร้างความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียนจากผลของการวิเคราะห์เอสอีเอ็ม และ 4) เพื่อนำกลยุทธ์การสร้างความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนไปให้ครูทดลองใช้ และวิเคราะห์ผลที่เกิดกับนักเรียน การวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 ใช้ตัวอย่างนักเรียน 1,780 คน และครู 506 คน วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากแบบสอบถามโดยการวิเคราะห์โมเดลเอสอีเอ็ม เครื่องมือมีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง 0.708-0.917 การวิจัยปฏิบัติการทดลองแบบมีส่วนร่วมในระยะที่ 2 ใช้ตัวอย่างครู 133 คน และนักเรียนที่ครูสอน 6,353 คน ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 5 โรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากแบบสอบถามด้วยสถิติอ้างอิง การสนทนากลุ่ม และการบันทึกโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. นักเรียนมีความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนในทุกด้านระดับมาก โดยมีความยึดมั่นผูกพันเชิงอารมณ์สูงสุด รองลงมาคือ เชิงปัญญา และเชิงพฤติกรรมตามลำดับ ในขณะที่ครูรับรู้ว่านักเรียนมีความความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนเชิงอารมณ์ระดับมาก แต่มีความยึดมั่นกับโรงเรียนเชิงปัญญาและเชิงพฤติกรรมระดับปานกลาง

2. การตรวจสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียน พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 23.95, df = 18, p = 0.157, GFI = 0.997, AGFI = 0.992, RMR = 0.002, RMSEA = .0140) โดยความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนมีอิทธิพลทางตรงแบบบวกขนาด 0.451 ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 การสนับสนุนทางการเรียนมีอิทธิพลทางตรงแบบบวกขนาด 0.954 ต่อความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และความต้องการจำเป็นของนักเรียนมีอิทธิพลทางตรงแบบลบขนาด 0.105 ต่อความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

3. ผลการทดลองพบว่า ครูในกลุ่มทดลองใช้ทั้ง 3 กลยุทธ์เพื่อสร้างความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียน ได้แก่ ก) การปลูกฝัง/พัฒนา ข) การกระตุ้น/ส่งเสริม และ ค) การสนับสนุน/อำนวยความสะดวกในแต่ละกลยุทธ์ครู ส่วนใหญ่ใช้กิจกรรมต่อไปนี้มากที่สุด คือ ก) การจัดกิจกรรมการให้รางวัลและการให้กำลังใจ ข) การจัดกิจกรรม การมอบหมายความรับผิดชอบ/งานในห้องเรียนและการจัดกิจกรรมกลุ่ม และ ค) การจัดกิจกรรมการสอนตามความต้องการ/ความสนใจของนักเรียน การกำกับตนเอง และการสอนให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผล

ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบทางเดียว (one-way ANCOVA) ของความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียน พบว่า กลุ่มนักเรียนทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่เป็นกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนวัดหลังการทดลองสูงกว่านักเรียนที่เป็นกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อใช้คะแนนวัดก่อนการทดลองเป็นตัวแปรร่วม

`

กลยุทธ์การสร้างความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียนของนักเรียนจากผลการวิเคราะห์เอสอีเอ็ม : การพัฒนาและการนำไปปฏิบัติSTRATEGIES FOR ENHANCING SCHOOL ENGAGEMENT OF STUDENTS FROM THE RESULTS OF SEM ANALYSIS: DEVELOPMENT AND IMPLEMENTATION is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.