ประสิทธิภาพและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

: ชื่อผู้วิจัย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2560
: 4395

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

แนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการและประสิทธิภาพนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ยื่นหลักการต่อจอมพลถนอมกิตติขจร นายกรัฐมนตรี แต่ก็มิได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๔๑ ได้มีมหาวิทยาลัยก่อตั้งใหม่จำนวน ๓ แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ได้แก่ ๑) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส. ปี พ.ศ. ๒๕๓๓) ๒) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล. ปี พ.ศ. ๒๕๓๕) และ ๓) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล. ปี พ.ศ. ๒๕๔๑) ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ก่อตั้ง

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ (เดิม) ได้แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐด้วยผลของกฎหมาย (พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. ๒๕๔๑) จึงถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ ๒ แห่ง) และต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่เหลืออีกจำนวน ๑๔ แห่ง ได้แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในลักษณะเดียวกัน

ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ แห่ง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้

๑) มหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จำนวน ๗ แห่ง

๒) มหาวิทยาลัยที่แปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน ๑๕ แห่ง

๓) มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

หลักการและสาระสำคัญของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ โดยนัยดังกล่าวจึงเกิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ควบคู่กับความรับผิดชอบที่จะดำเนินภารกิจอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ มีความเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐสามารถกำกับ ดูแลและตรวจสอบได้โดยกลไกของรัฐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเห็นควรให้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “ประสิทธิภาพและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เพื่อศึกษาการดำเนินงานและบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อจำกัดและอุปสรรค รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับระบบและประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้สามารถร่วมขับเคลื่อนระบบการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนต่อไป

`

ประสิทธิภาพและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.