การบริหารสถานศึกษาสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพ: การศึกษาทฤษฎีฐานราก
THE SCHOOL ADMINISTRATION TO BE A QUALITY SCHOOL:THE GROUNDED THEORY APPROACH
: ชื่อผู้วิจัย ทิวัตถ์ ศรีดํารงค์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2556
: 2959
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทําความเข้าใจถึงลักษณะ เงื่อนไข กระบวนการ การเกิดขึ้น การดํารงอยู่ และผลที่ตามมา จากปรากฏการณ์ การบริหารสถานศึกษาสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพเป็นการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปเชิงทฤษฎี เพื่อการสร้างทฤษฎีฐานราก ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยเลือกพื้นที่ทําการศึกษาโดยวิธีการเลือกเชิงทฤษฎีเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีลักษณะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย และผู้วิจัยได้เข้าไปศึกษาและจัดเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การจัดสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์เอกสาร การสังเกตและจดบันทึก ผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้บริหารโรงเรียน ครู นักการภารโรง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และคนในชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีแปลความหมาย ตีความหมายแล้วสร้างมโนทัศน์โดยอาศัยความไวเชิงทฤษฎี และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สําเร็จรูป NVivo8 ในการจัดระบบข้อมูล ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ลักษณะของโรงเรียนคุณภาพ คือ โรงเรียนที่ผู้บริหารมีภาวะผู้นำ จัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการร่วมมือกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และผู้ปกครอง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ผู้ปกครองและชุมชนยอมรับ และมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
2. เงื่อนไขการเกิดเป็นโรงเรียนคุณภาพ แยกเป็นเงื่อนไขจากภายในโรงเรียน ประกอบด้วยเงื่อนไขที่เกิดจากผู้บริหาร ได้แก่ การทำตัวเป็นแบบอย่าง การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ และมีภาวะผู้นำทางวิชาการ เงื่อนไขที่เกิดจากครู ได้แก่ ครูมีความสามัคคีกัน ครูมีความตระหนักในหน้าที่ และเงื่อนไขที่เกิดจากการปฏิบัติตามนโยบายและกฏหมายเกี่ยวกับการศึกษา เงื่อนไขจากภายนอกโรงเรียนคือ ความคาดหวังของผู้ปกครองและชุมชน
3. กระบวนการเกิดเป็นโรงเรียนคุณภาพ เกิดจากกระบวนการบริหารงานของผู้บริหาร ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การมีส่วนร่วมในการบริหาร มีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่ความสำเร็จเป็นทีม
4. การดำรงอยู่ของการเป็นโรงเรียนคุณภาพ เกิดจากความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ความเข้าใจและตระหนักในหน้าที่ของบุคลากร ความเป็นผู้นำทางวิชาการ และความผูกพันกับโรงเรียน ประกอบด้วย การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ความเอาใจใส่ต่องานในหน้าที่และการตรวจสอบแลพัฒนากระบวนการทำงาน
5. ผลที่ตามมาจากการเป็นโรงเรียนคุณภาพคือ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน นักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และโรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี
การบริหารสถานศึกษาสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพ: การศึกษาทฤษฎีฐานรากTHE SCHOOL ADMINISTRATION TO BE A QUALITY SCHOOL:THE GROUNDED THEORY APPROACH is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.