ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีการถ่ายทอดทางสังคมสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา
LEARNING MANAGEMENT STRATEGIES OF LOCAL WISDOM IN LOEI LOCAL CULTURE BY USING CONSTRUCTIVISM AND SOCIAL TRANSFORMATION THEORIES FOR THE ELEMENTARY SCHOOL STUDENTS

: ชื่อผู้วิจัย แดนสวรรค์ ศรีบุรินทร์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2555
: 691

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีการถ่ายทอดทางสังคม สําหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 2) เพื่อศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลยที่พัฒนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้ (1) ศึกษาและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ระหว่างหลังเรียนกับเกณฑ์ร้อยละ 80 และระหว่างก่อนเรียนกับ หลังเรียน (2) เปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน และ (3) เปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนที่มีต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน กระบวนการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสังเคราะห์เนื้อหาจากกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จํานวน 30 คน ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย จํานวน 11 คนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จํานวน 30 คน เครื่องมือใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ระยะที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ โดยเทคนิคการประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จํานวน 7 คน ภูมิปัญญาท้องถิ่น จํานวน 7 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสังเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 3 การทดลองและศึกษาผลการใช้กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จํานวน 25 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จํานวน 20 แผน 40 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แบบวัดเจตคติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ทดสอบเกณฑ์และทดสอบค่าที่แบบไม่เป็นอิสระ ผลการวิจัย พบว่า

1. ผลการดําเนินการในระยะที่ 1 ได้เนื้อหาที่ได้จากการสังเคราะห์วัฒนธรรมฮึด 12 ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเลย ประกอบด้วย บุญเดือนสี่บุญผเวสหรือบุญมหาชาติ บุญหลวง การละเล่นผีตาโขน เดือนห้างานสงกรานต์ พิธีแห่ต้นดอกไม้ เดือนหกพิธีนมัสการพระธาตุศรีสองรัก เดือนเจ็ดบุญซําฮะและพิธีเลี้ยงคงหอ หรือศาลปู่ตาประจําหมู่บ้าน

2. ผลการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชา ส16202 วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จํานวน 1 หน่วยกิต 40 ชั่วโมง และรูปแบบการจัดการการเรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย จํานวน 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างความตระหนัก ขั้นที่ 2 ขั้นสาธิต ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกปฏิบัติ ขั้นที่ 4 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขั้นที่ 5 ขั้นสืบสานและสู่การดำรงชีวิต และองค์ประกอบสนับสนุน 3 ด้าน คือ 1) ด้านสภาพแวดล้อม 2) ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ 3) ด้านวิทยากรและผู้ปกครอง

3. ผลการทดลองและศึกษาผลการใช้ พบว่า 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนเฉลี่ย 19.48 คิดเป็นร้อยละ 48.70 หลังเรียนมีผลสัมฤทธิ์เฉลี่ย 33.72 คิดเป็นร้อยละ 84.30 หลังเรียนมีผลสัมฤทธิ์ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 และผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการเปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย ก่อนเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เฉลี่ย 2.65 อยู่ในระดับการปฏิบัติน้อย หลังเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เฉลี่ย 4.41 ระดับการปฏิบัติดี โดยที่หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) ผลการเปรียบเทียบเจตคติต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นของนักเรียนก่อนเรียนมีเจตคติเฉลี่ย 2.64 อยู่ในระดับปานกลาง หลังเรียนมี

เจตคติเฉลี่ย 4.40 อยู่ในระดับค่อนข้างดี หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01

`

ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดเลย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีการถ่ายทอดทางสังคมสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาLEARNING MANAGEMENT STRATEGIES OF LOCAL WISDOM IN LOEI LOCAL CULTURE BY USING CONSTRUCTIVISM AND SOCIAL TRANSFORMATION THEORIES FOR THE ELEMENTARY SCHOOL STUDENTS is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.