การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิดเพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา
THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON INQUIRY APPROACH AND METACOGNITION TO SCIENTIFIC LEARNING OUTCOME AND SELF-REGULATED LEARNING ABILITY FOR PRIMARY SCHOOL STUDENTS

: ชื่อผู้วิจัย ณรงค์ โสภิณ
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2555
: 592

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาและพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิดเพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และ 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิดเพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยพิจารณาจากการศึกษาและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิด การดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพการจัดการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ จำนวน 10 คน และการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีสืบสอบและสอนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อุดรธานี เขต 1-4 จำนวน 105 คน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา การหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้ คิด เพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลศรีธาตุ ปีการศึกษา 2554 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2 จำนวน 4 ห้องเรียน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) จากนั้นสุ่มกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียนจำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) รวบรวมข้อมูลในการศึกษาผลโดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ แบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และแบบวัดความสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน โดยใช้การทดสอบค่าทีแบบสองกลุ่มที่ไม่อิสระจากกัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิดเพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประกอบด้วย ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นเกิดความตระหนักและสร้างความสนใจ 2) ขั้นเกิดความขัดแย้งทางปัญญา 3) ขั้นแสวงหาคำตอบ 4) ขั้นตรวจสอบความเข้าใจและขยายความรู้ และ 5) ขั้นการประเมินและสรุปผล

2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า

2.1 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

2.2 นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 และมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

2.3 นักเรียนมีเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับมาก และมีเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

2.4 นักเรียนมีความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้หลังเรียนในระดับดี และมีความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

`

การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการสืบสอบและการรู้คิดเพื่อส่งเสริมผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และความสามารถการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาTHE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON INQUIRY APPROACH AND METACOGNITION TO SCIENTIFIC LEARNING OUTCOME AND SELF-REGULATED LEARNING ABILITY FOR PRIMARY SCHOOL STUDENTS is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.