การจัดการการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบเน้นกระบวนการด้วยการผสานทฤษฎีประมวลสารสนเทศ และกลวิธีเมตาคอกนิชัน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGIES OF ENGLISH WRITING USING THE PROCESS APPROACH COMBINING AN INFORMATION PROCESSING THEORY AND METACOGNITIVE STRATEGIES FOR UPPER SECONDARY SCHOOL STUDENTS
: ชื่อผู้วิจัย พิชญสุกานต์ ทองอนันติวงศ์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2554
: 1229
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษแบบเน้นกระบวนการด้วยการผสานทฤษฎีประมวลสารสนเทศและกลวิธีเมตาคอกนิชัน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) เปรียบเทียบความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษก่อนและหลังการทดลอง 3) เปรียบเทียบเจตคติต่อวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการทดลอง และ 4) ศึกษาความคงทนของการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษภายหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ และ 6 สัปดาห์ การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ โดยการสัมภาษณ์และการสอบถามความคิดเห็น เก็บข้อมูลในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี จำนวน 60 คน และครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 6 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 การสังเคราะห์ต้นร่างและการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ โดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ใช้การวิจัยแบบการทดลองเบื้องต้นแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนเทศบาล 7 สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครอุดรธานี จำนวน 17 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษ แบบวัดเจตคติต่อวิชาภาษาอังกฤษ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ค่าร้อยละ เปรียบเทียบความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษ และเจตคติต่อวิชาภาษาอังกฤษก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้สถิติที
(t-test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนของค่าเฉลี่ยคะแนนความคงทนของการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษ โดยใช้สถิติเอฟ (F-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษแบบเน้นกระบวนการด้วยการผสานทฤษฎีประมวลสารสนเทศและกลวิธีเมตาคอกนิชันที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประกอบด้วย องค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ หลักการ จุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษแบบเน้นกระบวนการด้วยการผสานทฤษฎีประมวลสารสนเทศ และกลวิธีเมตาคอกนิชัน ประกอบด้วย ขั้นการสอน 9 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นนําเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นเพียรแจ้งจุดประสงค์ 3) ขั้นมุ่งตรงตัวอย่าง 4) ชั้นวางแผนศึกษา 5) ขั้นหาข้อมูลทาง อินเทอร์เน็ต 6) ขั้นตรวจเช็ครายละเอียดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7) ขั้นมุ่งสู่การปฏิบัติงานเขียน 8) ขั้นเพียรแก้ไขข้อผิดพลาด และ 9) ขั้นประเมินความสามารถของตนและเพื่อน
2. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนเจตคติต่อวิชาภาษาอังกฤษหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนความคงทนของการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษภายหลังการทดลองผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ และ 6 สัปดาห์ เท่ากับ 38.71, 37.88, และ 38.18
5. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนความคงทนของการเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษภายหลังการทดลองผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ และ 6 สัปดาห์ ไม่แตกต่างกัน
การจัดการการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบเน้นกระบวนการด้วยการผสานทฤษฎีประมวลสารสนเทศ และกลวิธีเมตาคอกนิชัน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายTHE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGIES OF ENGLISH WRITING USING THE PROCESS APPROACH COMBINING AN INFORMATION PROCESSING THEORY AND METACOGNITIVE STRATEGIES FOR UPPER SECONDARY SCHOOL STUDENTS is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.