รูปแบบการพัฒนานักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
A DEVELOPMENT MODEL OF RESEARCHERS IN UNIVERSITIES IN LAO PEOPLE'S DEMOCRATIC REPUBLIC
: ชื่อผู้วิจัย นายบัวดำ แสงคำคูคลาวงษ์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2556
: 585
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนาของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป. ลาว) และสร้างและพัฒนารูปแบบการพัฒนานักวิจัยและประเมินรูปแบบการพัฒนานักวิจัยที่พัฒนาขึ้นโดยกระบวนการวิจัยมี 3 ระยะ
ระยะที่ 1 การศึกษาปัญหาและความต้องการของนักวิจัย ด้วยวิธีการสำรวจ (Survey Study) จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยใน ส.ป.ป. ลาว จำนวน 455 คน ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นในส่วนของปัญหาเท่ากับ 0.96 และในส่วนของความต้องการเท่ากับ 0.98 ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับสังคมศาสตร์หาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยใน ส.ป.ป. ลาว มีปัญหาด้านคุณสมบัติของนักวิจัย โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาด้านสมรรถนะโดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีความต้องการพัฒนาทั้งด้านคุณสมบัติและด้านสมรรถนะอยู่ในระดับมาก ทั้งโดยรวมและรายด้าน
ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารสำนักวิจัยของมหาวิทยาลัย 6 แห่ง มาจัดทำรูปแบบฉบับร่างและนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 21 คน พิจารณาตามเทคนิคเดลฟาย 3 รอบ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสถิติสำเร็จรูปหาค่ามัธยฐาน ฐานนิยม และพิสัยระหว่างควอไทล์ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการพัฒนาด้านคุณสมบัติของนักวิจัย มี 14 วิธี และพัฒนาด้านสมรรถนะนักวิจัยมี 17 วิธี วิธีพัฒนาสมรรถนะวิธีหนึ่งคือ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วยเนื้อหา 20 เรื่อง ใช้วิธีการฝึกอบรม 11 วิธี วิทยากรที่จะให้การฝึกอบรมมีคุณสมบัติ 8 ประการ
ระยะที่ 3 การประเมินรูปแบบการพัฒนานักวิจัยของมหาวิทยาลัยใน ส.ป.ป. ลาว ผู้วิจัยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ ศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปปฏิบัติด้วยการศึกษาเชิงสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 455 คน เลือกโดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบประเมินในส่วนของความเหมาะสม เท่ากับ 0.92 และในส่วนของความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ เท่ากับ 0.96 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสถิติสำเร็จรูปหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบน มาตรฐาน และค่าร้อยละ พบว่า รูปแบบการพัฒนานักวิจัยของมหาวิทยาลัยใน ส.ป.ป. ลาว ทางด้านคุณสมบัติและด้านสมรรถนะมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นปรากฏว่ามีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด จากนั้นผู้วิจัยได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแห่งชาติ จำนวน 27 คน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลตามรูปแบบการทดลองแบบทดลองกลุ่มเดียวโดยมีการทดสอบ 1) ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน 2) เจตคติต่อการวิจัย และ 3)ความสามารถในการเขียนเค้าโครงฉบับร่างของผู้เข้าอบรมก่อนและหลังการอบรม ผลการวิจัยพบว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีเจตคติต่อการวิจัย และทักษะการเขียนเค้าโครงวิจัยฉบับร่างเพิ่มขึ้น
รูปแบบการพัฒนานักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวA DEVELOPMENT MODEL OF RESEARCHERS IN UNIVERSITIES IN LAO PEOPLE'S DEMOCRATIC REPUBLIC is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.