ความผูกพันของครูต่อโรงเรียน: การสร้างทฤษฎีฐานราก
TEACHERS' COMMITMENT TO SCHOOL: A GROUNDED THEORY STUDY

: ชื่อผู้วิจัย สุขเกษม พาพินิจ
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2555
: 923

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผูกพันของครูต่อโรงเรียน โดยทําความเข้าใจถึงความหมาย เงื่อนไข กระบวนการ การดำรงอยู่ และผลที่ติดตามมาจากปรากฏการณ์ของความผูกพันของครูต่อโรงเรียน เพื่อหาข้อสรุปเชิงทฤษฎี ที่นำไปสู่การสร้างทฤษฎีฐานราก พื้นที่ที่ศึกษา คือโรงเรียนบ้านสุขใจ เลือกโดยวิธีเลือกเชิงทฤษฎี เพื่อหาข้อสรุปเชิงทฤษฎี ที่นำไปสู่การสร้างทฤษฎีฐานราก เก็บข้อมูลโดยการจัดกลุ่มสนทนาการสัมภาษณ์ระดับลึก ร่วมกับการสังเกต และจดบันทึก ผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูจำนวน 14 คน คณะกรรมการโรงเรียน ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีแปลความและตีความหมายข้อมูล โดยอาศัยความไวทางทฤษฎี ช่วยในการจัดระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสุดท้าย จากการวิจัยพบว่า

1. ความหมายความผูกพันของครูต่อโรงเรียนหมายถึง ความรู้สึกของครูที่มีต่อโรงเรียน เป็นความสุข ความคิดถึง ความรักรวมทั้งความห่วงใย ทำให้ครูมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่ด้วยกันเสมือนครอบครัวเดียวกันและมีเอกลักษณ์ร่วมกัน ส่งผลให้มีการให้กำลังใจและได้รับกำลังใจ มีความเอื้ออาทรต่อกัน ให้เกียรติกัน รวมทั้งจริงใจต่อกัน โดยแสดงออกในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโรงเรียน

2. เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความผูกพันประกอบด้วย 2.1) เงื่อนไขด้านจิตสำนึกและความรับผิดชอบของครู ซึ่งประกอบด้วยการสอน จริยธรรม วิชาการ การสืบทอดวัฒนธรรม การมีมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งการประเมินผล 2.2) เงื่อนไขด้านการบริหารของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยภาวะผู้นำ การกำหนดแนวปฏิบัติในการพัฒนาครู การวางแผน การจัดการเรียนการสอน และการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และ 2.3) เงื่อนไขด้านบรรยากาศ ซึ่งประกอบด้วย การทำงานร่วมกัน สิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์กับชุมชน รวมทั้งเงื่อนไขด้านการแสดงออกที่ครูได้รับ ซึ่งประกอบด้วย การได้รับเกียรติ การมีน้ำใจ การดูแลเอาใจใส่รวมทั้งการให้กำลังใจกัน

3. กระบวนการเกิดความผูกพันของครูต่อโรงเรียน แบ่งเป็น 5 ระยะ คือ 1) ประสบการณ์ในอดีต ได้แก่ ประสบการณ์ในวัยเด็ก ประสบการณ์ก่อนมาเป็นครูในโรงเรียนและความเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน 2) ประสบการณ์เมื่อแรกเข้ามาอยู่ ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความอึดอัด กลัว ไม่มั่นใจ ไม่ได้รับความสนใจ รวมทั้งการได้รับการต้อนรับดีเหมือนครอบครัวเดียวกัน 3) การสร้างสัมพันธภาพทางสังคม ประกอบการทักทาย พูดคุย การรับประทานอาหารร่วมกัน การได้รับกำลังใจ และการแสดงความจริงใจ 4) การสร้างความผูกพันระหว่างกัน ประกอบด้วย การให้กำลังใจกันทั้งด้านส่วนตัวและด้านการทำงาน และการร่วมทํางาน ร่วมกิจกรรม ช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแล ให้คําปรึกษา แนะนำ ห่วงใยเอาใจใส่ 5) การเกิดความรู้สึกผูกพันต่อโรงเรียนประกอบด้วยความรู้สึกเสียสละ ไม่อยากไปอยู่ที่อื่น ความคิดถึง นึกถึง รวมทั้งความสามัคคี

4. ผลของความผูกพันมีส่วนเสริมสร้างความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโรงเรียน โดยครูมีความพยายามร่วมมือกัน มีกำลังใจ และมีความสามัคคีกัน มีความรู้สึกประทับใจ ภูมิใจ มีความห่วงใยเอาใจใส่ต่อโรงเรียนและมีความสุขที่ได้ทำงานกับโรงเรียน ทําให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านโรงเรียน ด้านครู และด้านนักเรียน โดยครูจะร่วมกันสร้างอัตลักษณ์และรักษาอัตลักษณ์ของโรงเรียน ซึ่งจะทำให้ครูมีความจงรักภักดี คือไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือย้ายที่ทำงาน และมีความรับผิดชอบต่องานที่ปฏิบัติทั้งด้านส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งจะเห็นได้จากการทุ่มเทให้กับงาน โดยการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

5. การดำรงอยู่ของความผูกพันโดยครูมีการพึ่งพากัน มีความรักให้กับโรงเรียนและเพื่อนครู และมีความจริงใจต่อกัน มีการให้เกียรติกัน ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ รวมทั้งมีความภูมิใจต่อโรงเรียน ต่อเพื่อนครู

`

ความผูกพันของครูต่อโรงเรียน: การสร้างทฤษฎีฐานรากTEACHERS' COMMITMENT TO SCHOOL: A GROUNDED THEORY STUDY is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.