การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6
THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BY INTEGRATING CONSTRUCTIVIST THEORY AND BRUNER'S THEORY TO ENHANCE LEARNING ACHIEVEMENT AND MATHEMATICAL CREATIVITY OF PRATHOM SUKSA 6 STUDENTS

: ชื่อผู้วิจัย รสริน อะปะหัง
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2557
: 1078

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์ 2) ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์ ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา จากแนวคิดทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและครูผู้สอน ระยะที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้ จากการสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ในระยะที่ 1 มาสร้างเป็นยุทธศาสตร์แล้วตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ นำยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์ไปทดลองใช้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนชุมชนบ้านซาง สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ จำนวน 2 ห้องเรียน โดยสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) จำนวนนักเรียนรวม 60 คน และสุ่มห้องเรียน โดยวิธีการจับฉลากเพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน และกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน โดยมีนักเรียนห้องเรียนละ 30 คน ใช้ระยะเวลาในการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 รวมเวลา 9 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง โดยกลุ่มทดลองได้รับการจัดการการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มควบคุมได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 3) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ 4) แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ใช้แบบแผนการทดลองแบบ pretest - posttest control group design วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. ผลการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์ ทำให้ได้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่มีหลักการตามแนวคิดทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์ ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ 1) จุดมุ่งหมายของยุทธศาสตร์ 2) แนวคิดทฤษฎีพื้นฐาน 3) หลักการของยุทธศาสตร์ 4) องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ด้านกระบวนการเรียนรู้ประกอบด้วยขั้นตอนการเรียนรู้ 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นสร้างแรงบันดาลใจ ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นค้นพบความรู้ ขั้นฝึกปฏิบัติคิดสร้างสรรค์ ขั้นประยุกต์ใช้แนวคิด องค์ประกอบด้านการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน 5) การประเมินผลยุทธศาสตร์ ผลการประเมินยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก

2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า 1) กลุ่มทดลองมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม และคะแนนที่ได้ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 2) กลุ่มทดลองมีคะแนนความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์เฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม คะแนนที่ได้ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 3) กลุ่มทดลองมีคะแนนเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เฉลี่ยหลังเรียนอยู่ในเกณฑ์ระดับค่อนข้างดี และมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม

`

การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยบูรณาการทฤษฎีการสร้างความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ของบรูเนอร์เพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BY INTEGRATING CONSTRUCTIVIST THEORY AND BRUNER'S THEORY TO ENHANCE LEARNING ACHIEVEMENT AND MATHEMATICAL CREATIVITY OF PRATHOM SUKSA 6 STUDENTS is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.