อนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
A SCENARIO OF THE UNIVERSITY FOR LOCAL DEVELOPMENT OF UDON THANI RAJABHAT UNIVERSITY

: ชื่อผู้วิจัย พรภัทรา จําเริญ
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2560
: 887

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีและความต้องการของท้องถิ่นที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพื่อพัฒนาอนาคตภาพ ประเมินความเป็นไปได้ของอนาคตภาพ และศึกษาผลกระทบที่มีต่อกันในการพัฒนาอนาคตภาพมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยดําเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพ และปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และศึกษาความต้องการของท้องถิ่นที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มี 2 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษา สภาพ และปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 5 คน ใช้วิธีเลือก แบบบอกต่อ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ปลายเปิด ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ยังตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ไม่ทั้งหมด มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่นน้อย ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาความต้องการของท้องถิ่นที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จํานวน 364 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสําเร็จรูปทางสถิติ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า ความต้องการของท้องถิ่นที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยรวมอยู่ในระดับมาก

ระยะที่ 2 การพัฒนาอนาคตภาพที่ควรจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้วิจัยใช้เทคนิคการวิจัยอนาคตเชิงชาติพันธุ์วรรณา ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 48 คน โดยการเลือกแบบบอกต่อ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์และค่าฐานนิยม ผลการวิจัย พบว่า อนาคตภาพที่ควรจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมี 14 ด้าน คือ 1) ด้านภาพสังคมท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย 2) ด้านมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 3) ด้านองค์ประกอบมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 4) ด้านการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5) ด้านการเชื่อมโยง การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยกับการศึกษาระดับอื่น 6) ด้านการแก้ปัญหาอุดมศึกษาและการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย 7) ด้านการเป็นเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย 8) ด้านธรรมาภิบาลและการบริหารมหาวิทยาลัย 9) ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขัน ระบบวิจัยและนวัตกรรม การสร้างองค์ความรู้ที่มุ่งปัญหาของท้องถิ่น แหล่งข้อมูล แหล่งภูมิปัญญาของท้องถิ่น 10) ด้านการเงินของมหาวิทยาลัย 11) ด้านระบบการพัฒนาอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย 12) ด้านการพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยแบบบูรณาการ 13) ด้านโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ และ 14) ด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ระยะที่ 3 การประเมินความเป็นไปได้อนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ให้ข้อมูล เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จํานวน 111 คน ใช้การเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น 0.985 ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า อนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก

ระยะที่ 4 การศึกษาผลกระทบที่มีต่อกันในการพัฒนาอนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จํานวน 52 คน ผู้วิจัยเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบเติมข้อความที่เป็นตัวเลข ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ผลกระทบภาคตัด ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาอนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีผลกระทบต่อการพัฒนาอนาคตภาพด้านอื่น มี 7 ด้าน คือ 1) ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขัน ระบบวิจัยและนวัตกรรม การสร้างองค์ความรู้ที่มุ่งปัญหาของท้องถิ่น แหล่งข้อมูล แหล่งภูมิปัญญาของท้องถิ่นมีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 9 ด้าน 2) ด้านการเงินของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 6 ด้าน 3) ด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 5 ด้าน 4) ด้านระบบการพัฒนาอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 4 ด้าน 5) ด้านการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 3 ด้าน 6) ด้านการพัฒนา นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแบบบูรณาการมีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 3 ด้าน และ 7) ด้านโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น 3 ด้าน

`

อนาคตภาพมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีA SCENARIO OF THE UNIVERSITY FOR LOCAL DEVELOPMENT OF UDON THANI RAJABHAT UNIVERSITY is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.