การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและแนวคิดเมตาคอกนิชัน เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณการกํากับตนเองในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON THE APPLICATION OF PROBLEM BASED LEARNING AND METACOGNITION APPROACHES TO ENHANCE ABILITY OF PROBLEM SOLVING WITH CRITICAL THINKING, SELF - REGULATING AND LEARNING ACHIEVEMENT OF UNDERGRADUATE STUDENTS KASETSART UNIVERSITY
: ชื่อผู้วิจัย ปัณฑิตา อินทรักษา
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2559
: 977
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและแนวคิดเมตาคอกนิชัน เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ การกํากับตนเองในการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวิธีดําเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษา สภาพปัญหาและแนวคิดทฤษฎีเพื่อหาแนวทางในการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระยะที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและแนวคิดเมตาคอกนิชัน โดยใช้กระบวนการสนทนากกลุ่ม (Focus Group Discussion) และตรวจสอบความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และแนวคิดเมตาคอกนิชันโดยใช้แบบแผนการทดลองแบบ Randomized Control Group Pretest - Posttest Design กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ภาคต้น ปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จํานวน 50 คน กลุ่ม ทดลอง 25 คน เรียนด้วยยุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้ และกลุ่มควบคุม 25 คน เรียนตามระบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) แผนการจัดการการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ 3) แบบสอบถามวัดความสามารถในการกํากับตนเองในการเรียน และ 4) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลจากคะแนนการทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ คะแนนวัดความสามารถในการกํากับตนเองในการเรียน และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิต ด้วยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละการทดสอบที่ไม่อิสระ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณ (MANCOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
1. กระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ ชื่อยุทธศาสตร์ หลักการและเหตุผล แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง หลักการ จุดมุ่งหมาย การจัดการเรียนรู้ มี 6 ขั้นตอน คือ 1) กําหนดประเด็นปัญหา 2) เชื่อมโยงเข้าสู่ปัญหา 3) ระดมสมองเพื่อวางแผน 4) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล 5) สรุปแนวทางแก้ปัญหา และ 6) ประเมินผลการเรียนรู้ และการวัดและการประเมินผล ผลการประเมินความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ยุทธศาสตร์มีความเหมาะสมในระดับมาก (x ̅ = 4.26, S.D. = 0.67)
2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า
2.1 นิสิตกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการกํากับตนเองในการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.2 นิสิตกลุ่มทดลองมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการกํากับตนเองในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม
การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและแนวคิดเมตาคอกนิชัน เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณการกํากับตนเองในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON THE APPLICATION OF PROBLEM BASED LEARNING AND METACOGNITION APPROACHES TO ENHANCE ABILITY OF PROBLEM SOLVING WITH CRITICAL THINKING, SELF - REGULATING AND LEARNING ACHIEVEMENT OF UNDERGRADUATE STUDENTS KASETSART UNIVERSITY is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.