การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
THE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON SYSTEMS THINKING AND PROJECT BASED LEARNING APPROACHES TO ENHANCE SCIENTIFIC THINKING AND CREATIVE PROBLEM SOLVING ABILITIES OF THE YOUNG CHILDREN
: ชื่อผู้วิจัย ดารา วิมลอักษร
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2558
: 1061
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย 2) ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยดําเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้องและจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและครูผู้สอนเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้ จากการสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ในระยะที่ 1 สร้างยุทธศาสตร์และตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ โดยนําไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม จํานวน 2 ห้องเรียน โดยจับสลากเป็นห้องควบคุมและห้องทดลอง ใช้ระยะเวลาในการทดลองจํานวน 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที โดยกลุ่มทดลองได้รับการจัดการการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น และกลุ่มควบคุมได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2 รูปแบบ 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 4) แบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และ 5) แบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ใช้แบบแผนการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experiment Design) ตามรูปแบบการทดลองกลุ่มควบคุมที่ไม่เท่าเทียมกัน (Non- Equivalent Controlled Group Pretest Posttest Design) ดําเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพแล้ว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ การทดสอบทีและการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณแบบทางเดียว (One way MANOVA)
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า
1. ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน มีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) ชื่อยุทธศาสตร์ 2) ความเป็นมาและความสําคัญ 3) แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการพัฒนายุทธศาสตร์ 4) หลักการของยุทธศาสตร์ 5) จุดมุ่งหมายของยุทธศาสตร์ 6) กระบวนการของยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 6.1) กระบวนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 6.1.1) ขั้นจุดประกายการคิด 6.1.2) ขั้นพิชิตการค้นหา 6.1.3) ขั้นพากันร่วมสร้าง 6.1.4) ขั้นจัดวาง ระบบความรู้ 6.1.5) ขั้นสรุปสู่การนําเสนอ และ 6.2) การจัดปัจจัยสนับสนุนและการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ 7) การวัดและประเมินผลตามยุทธศาสตร์
2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า
2.1 เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน มีความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.2 เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน มีความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.3 เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน มีความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวการคิดเชิงระบบและการเรียนรู้แบบโครงงาน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยTHE DEVELOPMENT OF LEARNING MANAGEMENT STRATEGY BASED ON SYSTEMS THINKING AND PROJECT BASED LEARNING APPROACHES TO ENHANCE SCIENTIFIC THINKING AND CREATIVE PROBLEM SOLVING ABILITIES OF THE YOUNG CHILDREN is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.