กลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา
Risk Management Strategies in Education of the Small Size Primary School under Nakhon Ratchasima Primary Educational Service Area Office
: ชื่อผู้วิจัย ว่าที่ร้อยเอกปรีชา มณฑาทิพย์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2560
: 1369
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก 2) เพื่อสร้าง
กลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา 3) เพื่อประเมินกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา โดยใช้ระเบียบวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่มีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ จำนวน 5 โรงเรียน ที่มาจากการเลือกแบบเจาะจง ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหามาตรฐาน ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา จำนวน 244 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบน นำข้อมูลมาสร้างกลยุทธ์ด้วยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ SWOT Analysis เพื่อประเมิน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ใช้ตาราง TOWS Matrix จับคู่ความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก เพื่อกำหนดกลยุทธ์และมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษา และใช้การประเมินด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสมของกลยุทธ์ โดยการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน และด้านความเป็นประโยชน์โดยผู้ใช้กลยุทธ์ จำนวน 40 คน ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพความเสี่ยงทางการศึกษาที่เป็นอยู่จริงของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา โดยภาพรวมมีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาตามความเสี่ยงทางการศึกษาจากสภาพแวดล้อมภายนอก มีความเสี่ยงอยู่ในระดับมาก และความเสี่ยงทางการศึกษาจากสภาพแวดล้อมภายใน มีความเสี่ยงอยู่ในระดับมาก
2. กลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา ประกอบด้วย 14 กลยุทธ์ และ 86 มาตรการการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้แก่ กลยุทธ์ 1) พัฒนาการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแบบมีส่วนร่วม กลยุทธ์ 2) เสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน กลยุทธ์ 3) ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลยุทธ์ 4) พัฒนาและส่งเสริมทักษะอาชีพตามวิถีชีวิตในท้องถิ่น
กลยุทธ์ 5) สร้างเครือข่ายพัฒนาระบบในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน กลยุทธ์ 6) พัฒนาการประยุกต์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา กลยุทธ์ 7) ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ 8) การสร้างเครือข่ายพัฒนาการนิเทศติดตามในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก กลยุทธ์ 9) ส่งเสริมการจัดระบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ 10) พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลยุทธ์ 11) พัฒนาการบริหารจัดการทางการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนขนาดเล็ก กลยุทธ์ 12) สร้างเครือข่ายพัฒนาบุคลากรในชุมชน กลยุทธ์ 13) พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านงานธุรการ งานการเงิน และงานพัสดุ และกลยุทธ์ 14) ระดมทรัพยากรทางการศึกษา
3. กลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา มีความเป็นไปได้ คิดเป็นร้อยละ 96.43 มีความเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 98.81 และมีความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.90)
กลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาRisk Management Strategies in Education of the Small Size Primary School under Nakhon Ratchasima Primary Educational Service Area Office is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.