การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณลักษณะผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
A Development of Indicators of Leadership Characteristics of Students in the Higher Educational Institutions in the Lower Northeastern Region
: ชื่อผู้วิจัย ประณต นาคะเวช
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2559
: 504
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้คุณลักษณะของผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2) เพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพของตัวบ่งชี้คุณลักษณะของผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผู้วิจัยดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ และขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์ความเที่ยงตรงตามสภาพ โดยศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ เพื่อกำหนดเป็นองค์ประกอบและตัวบ่งชี้นำมาสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีความเที่ยงตรงของเนื้อหาโดยการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ได้ค่าดัชนีความเที่ยงตรงตามเนื้อหารายข้อ (CVI) โดยมีค่า I-CVI อยู่ระหว่าง 0.80-1.00 และค่าดัชนีความเที่ยงตรงตามเนื้อหาของเครื่องมือทั้งชุด มีค่าเท่ากับ 0.97 และค่าความเชื่อมั่น ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอน-บาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) มีค่าเท่ากับ 0.87 นำไปเก็บกับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 1,139 คน จาก 17 สถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) สกัดปัจจัยเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มตัวแปรด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก และหมุนแกนแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวร์ริแมกซ์ จากนั้นผู้วิจัยได้นำตัวบ่งชี้ที่ได้จากการดำเนินการข้างต้นมาสร้างแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด คือ ผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาที่มีความประพฤติดีเด่น ผลการเรียนดี มีผลงานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ดีเด่นและเป็นนักศึกษารางวัลพระราชทาน จำนวน 51 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยที่ได้จากเกณฑ์การประเมินระดับมาก โดยใช้สถิติ t-test เพื่อวิเคราะห์หาความเที่ยงตรง
ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ของผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มี 9 องค์ประกอบ 89 ตัวบ่งชี้ มีความเหมาะสมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับด้านการมีมนุษย์สัมพันธ์มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากเป็นลำดับแรก รองลงมาได้แก่ด้านการทำงานเป็นทีม และด้านการพัฒนาตนเองมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากเป็นลำดับสุดท้าย
การวิเคราะห์องค์ประกอบและตัวบ่งชี้คุณลักษณะของผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ 89 ตัวบ่งชี้ สามารถอธิบายความแปรปรวนของตัวบ่งชี้ได้ร้อยละ 85.49 เรียงตามค่าร้อยละของการอธิบายความแปรปรวนจากมากไปหาน้อยตามลำดับ คือ 1) ด้านความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อธิบายความแปรปรวนได้สูงสุด ร้อยละ 23.85 มี 12 ตัวบ่งชี้ 2) ด้านคุณธรรมจริยธรรม อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 16.90 มี 10 ตัวบ่งชี้ 3) ด้านการพัฒนาตนเอง อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 13.69 มี 10 ตัวบ่งชี้ 4) ด้านการตัดสินใจ อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 12.66 มี 10 ตัวบ่งชี้ 5) ด้านความคิดสร้างสรรค์ อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 11.33 มี 10 ตัวบ่งชี้ 6) ด้านการทำงานเป็นทีม อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 6.55 มี 10 ตัวบ่งชี้ 7) ด้านการมีมนุษย์สัมพันธ์ อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 3.14 มี 10 ตัวบ่งชี้ 8) ด้านความเชื่อมั่นในตนเอง อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 1.75 มี 9 ตัวบ่งชี้ และ 9) ด้านการสื่อสาร อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 1.68 มี 8 ตัวบ่งชี้ จากการนำตัวบ่งชี้ที่ค้นพบไปทดสอบกับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัดปรากฏว่ามีนัยสำคัญทางสถิติทุกตัวบ่งชี้ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าตัวบ่งชี้ ทั้ง 89 ตัว มีความเที่ยงตรงตามสภาพ
การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณลักษณะผู้นำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างA Development of Indicators of Leadership Characteristics of Students in the Higher Educational Institutions in the Lower Northeastern Region is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.