รูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
Model Of Administrative Skills Development For Chief Executives In Northern Region Industrial Estate
: ชื่อผู้วิจัย วีนัส ม่านมุงศิลป์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2558
: 468
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (2) เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ (1) ศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและสัมภาษณ์ผู้บริหาร พร้อมร่างรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (2) ประเมินความเหมาะสมและความเป็นประโยชน์ของรูปแบบ โดยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเรื่องที่วิจัย (Focus Group Discussion) (3) ตรวจสอบความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบ โดยใช้แบบสอบถามความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 58 บริษัท ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่เป็นผู้บริหารระดับสูง วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้รูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ มีองค์ประกอบ คือ (1) หลักการ (2) วัตถุประสงค์ (3) สาระสำคัญของรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยบูรณาการครอบคลุมทักษะทางการบริหาร 3 ด้าน คือ ทักษะทางเทคนิค ทักษะด้านมนุษย์และทักษะด้านความคิดรวบยอด (4) แนวทางการนำรูปแบบสู่การปฏิบัติ และ (5) เงื่อนไขความสำเร็จของการนำรูปแบบสู่การปฏิบัติ
2. ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผู้บริหารอาศัยทักษะการบริหารในศตวรรษที่ 21 มาเป็นเครื่องมือในการทำงานอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหารหาโอกาสในการสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และลำดับสุดท้าย คือ ผู้บริหารมีการเรียนรู้เห็นคุณค่าเพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
3. ผลการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือสู่การปฏิบัติ พบว่า มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าอยู่ระดับมากที่สุดทุกด้าน อันดับแรก คือ ผู้บริหารหาโอกาสในการสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ รองลงมา คือ ผู้บริหารมีการเรียนรู้ เห็นคุณค่า เพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และลำดับสุดท้าย คือ ผู้บริหารเชื่อว่าความรู้และประสบการณ์สามารถบอกถึงวิสัยทัศน์ในการบริหาร
4. ผลการประเมินความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ลำดับแรกผู้บริหารหาโอกาสในการสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ รองลงมาคือ ผู้บริหารอาศัยทักษะการบริหารในศตวรรษที่ 21 มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน และลำดับสุดท้ายคือ ผู้บริหารเชื่อว่าความรู้และประสบการณ์สามารถบอกถึงวิสัยทัศน์ในการบริหาร
รูปแบบการพัฒนาทักษะทางการบริหารของผู้บริหารระดับสูง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือModel Of Administrative Skills Development For Chief Executives In Northern Region Industrial Estate is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.